0243: Growth vs. Value (Results)

สามปีผ่านไปไวเหมือนโกหก…

ในที่สุดก็ครบกำหนดของการทดลอง Growth vs. Value ที่ได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อสามปีก่อน (บล็อกนี้อยู่มานานแล้วเหมือนกันนะเนี่ย) 

  ต้นทุน ปันผล ราคาปัจจุบัน คิดเป็นผลตอบแทน
TF 444 54.66 660 61%
WG 46 10.14 48.75 28%
RATCH 42.25 6.5 37 3%
MINT 11 0.656 10.6 2.3%
BGH 30 1.6 24.6 -13%
ERAWAN 4.38 0.12 2.46 -41%

หมายเหตุ

  1. ผลตอบแทนของหุ้นแต่ละตัวคิดจากสูตร (ราคาปัจจุบัน+ เงินปันผล)/ต้นทุน แล้วทำให้เป็นร้อยละ 
  2. MINT มีปันผลเป็นหุ้นด้วยหนึ่งครั้ง ในอัตรา 10ต่อ1 ดังนั้นเงินปันผลหลังจากนั้นจึงได้นำไปคูณ 1.1

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Value Stocks =30.7% คิดเป็น IRR 9.3% ต่อปี 

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Growth Stocks =-17.2% คิดเป็น IRR -6.1% ต่อปี 

สรุปว่า จากที่ Growth เคยนำอยู่เมื่อผ่านไปหนึ่งปี เมื่อครบสามปี ปรากฏว่า Value พลิกเอาชนะไปนะครับ คงเดาได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร เมื่อปีที่แล้วเราเจอวิกฤตที่แรงที่สุดในรอบสิบปีพอดี หุ้นพีอีสูงซึ่งมูลค่ามักจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังในอนาคตเป็นหลัก ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง

อนึ่ง ขอย้ำแนวคิดของผมที่เคยเขียนไว้เมื่อสามปีก่อนอีกครั้งว่า ผมเห็นว่าทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่การลงทุนที่ไม่ถูกต้อง พอร์ต Value มองแต่ราคา (พีอี) โดยไม่สนใจ Value ส่วนพอร์ต Growth มองแต่สตอรี่ (คุณค่า) โดยไม่เกี่ยงราคา

ที่จริงแล้ว นักลงทุนต้องสนใจทั้งคุณค่าและราคาประกอบกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Value Stocks หรือ Growth Stock อยู่ในโลกนี้ (มีแต่หลักการลงทุนที่เรียกว่า Value Investment เท่านั้น) นักลงทุนต้องตีคุณค่าหุ้นตามโอกาสเติบโตและคุณภาพของกำไรของหุ้นแต่ละตัวซึ่งไม่มีทางเท่ากัน และซื้อลงทุนที่ราคาต่ำกว่าคุณค่าที่เหมาะสมนั้นเสมอ (ไม่ว่านักลงทุนจะกำลังซื้อหุ้นเติบโตหรือหุ้นปันผลก็ตาม)

0233: วิธีคิด IRR ของพอร์ต 7thLTG

7thLTG ใช้วิธีค่อยๆ เติมเงินเข้าไปในพอร์ตเรื่อยๆ จนครบอายุ 15 ปี ไม่ได้ลงเงินทั้งหมดตูมเดียวตั้งแต่วันแรกที่เริ่มลงทุน ดังนั้นวิธีคิดผลตอบแทนจะยุ่งยากกว่า

ผมคิดว่าจะวัด IRR ของ 7thLTG ด้วยวิธีนี้ครับ

ในแต่ละปีจะรวมเงินที่เติมลงไปทั้งหมด (ประมาณเกือบ 288000 บาท บวกเงินเพิ่มทุนถ้ามี) หักออกด้วยเงินปันผลที่ได้รับในปีนั้น กลายเป็น cash flow ในปีนั้น

นำ cash flow ของแต่ละปีมาเรียงกันใน excel ปีสุดท้ายจะเป็น cash flow ของปีนั้นบวกด้วยมูลค่าตลาดของพอร์ตในขณะนั้น (สมมติว่าขายหุ้นออกมานั้นเอง) จากนั้นใช้ฟังก์ชั่น IRR() ของ excel ให้คิดผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีออกมา

ตัวอย่างเช่น ลงทุนมาได้ 4 ปี ปีละ 288, 000 บาท ได้ปันผลปีละ 8, 000 บาท คิดเป็น cashflow -280, 000 ต่อปี ปลายปีที่ 4 พอร์ตมีมูลค่าตลาด 1, 400, 000 บาท จะได้ cash flow เป็นดังนี้

-280000
-280000
-280000
1120000

ปีสุดท้ายคือ -288, 000+8000+1, 400, 000 นั่นเอง เมื่อใช้ฟังก์ชั่น =IRR(A1:A4) หาผลตอบแทนออกมาจะได้เท่ากับ 15% ต่อปี เป็นต้น

วิธีนี้น่าจะถูกต้องมากกว่าการใช้ NPV แต่จะยังมี error เล็กน้อย เนื่องจากที่จริงแล้วไม่ได้ลงเงิน 288000 ครั้งเดียวตั้งแต่ต้นปี แต่เป็นการทยอยลงเดือนละนิด อย่างไรก็ตาม compound effect ภายในเวลาไม่ถึงปีน่าจะมีค่าน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นการประมาณที่น่าจะยอมรับได้ครับ

0228: Lift-off

liftoff

ถ้าคุณเห็นโพสต์นี้แสดงว่า ตอนนี้โบรกได้ทำการซื้อหุ้นเข้าพอร์ต 7thLTG ครั้งแรกให้แก่ผมเรียบร้อยแล้ว เพราะผมได้ทำการ Schedule โพสต์นี้เอาไว้ให้แสดงผลเมื่อเวลา 9.55 ของวันที่ 25 ก.ย. 2552 ซึ่งเป็นเวลาที่โปรแกรมซื้อหุ้นโดยอัตโนมัติของโบรกจะทำการซื้อหุ้นประจำงวดนี้ให้ลูกค้า

ฉะนั้น ตอนนี้ การทดลองครั้งยิ่งใหญ่ได้เริ่มขึ้นโดยสมบูรณ์แบบแล้ว

ส่วนมันจะเป็น Lift off หรือว่า Rip off กันแน่ ต้องรออีก 15 ปี ถึงจะรู้ความจริงครับ

0225: การดูแลพอร์ต 7thLTG

gump

ถ้าหากผมจะต้องไปติดเกาะร้าง 15 ปี คนที่ผมคิดว่า น่าจะดูแลพอร์ต 7thLTG ให้ผมได้ดีที่สุด น่าจะเป็น Forrest Gump นะครับ สิ่งที่ต้องทำคงไม่มีอะไรมาก นอกจากแค่คอย make sure ว่า มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเพียงพอสำหรับตัดเงินค่าซื้อหุ้น หลังวันที่ 25 ของทุกเดือน เป็นเวลา 15 ปี

คนอย่าง Forrest ดูแลพอร์ต 7thLTG ได้ดีที่สุด เพราะ Forrest เป็นคนมีความเสมอต้นเสมอปลายสูงยิ่ง แค่สั่งให้ Keep an eye on the ball at all times เขาก็จ้องอยู่อย่างนั้นจริงๆ ตาไม่กระพริบ (literally) จนทำให้ตีปิงปองชนะแชมป์โลกได้เลย

คนธรรมดาทั่วไปมี impulse ทำให้อยู่ดีๆ ก็ชอบรู้สึกขึ้นมาว่า สงสัยหุ้นกำลังจะขึ้น หรือสงสัยหุ้นกำลังจะลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนธรรมดาเมื่อตั้งนโยบายการลงทุนอะไรขึ้นมาแล้ว สุดท้ายก็มักทำตามไม่ได้ในที่สุด เพราะเมื่อเจอราคาหุ้นที่ผันผวน จิตใจก็จะแปรปรวน

จิตใจของเราเองนี่แหละที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการลงทุน

0223: the first five years

2860127362_5d83182fce

ถึงตอนนี้ผมก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาได้เกินห้าปีแล้วครับ…

ข่วงที่ผมเริ่มลงทุน ผมกำหนดเป้าหมายว่า ในห้าปีแรก เป้าหมายของผมยังไม่ใช่ Wealth แต่คือการสะสมประสบการณ์และความรู้ ผมเพียงแต่สัญญากับตัวเองว่า ถ้าหากมีวิกฤตในห้าปีนี้ ผมจะต้องเป็นคนหนึ่งที่รอด

ผมมองว่า ตลาดหุ้นนั้นคล้ายภูเขาน้ำแข็ง ที่มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่เข้ามาในตลาดหุ้นแล้วสามารถอยู่ได้ถึงปีที่ 5 คนส่วนใหญ่หายไประหว่างทาง เพราะเจ๊ง เนื่องจากบังคับตัวเองไม่ให้ take excessive risk ไม่ได้ ดังนั้น คนที่อยู่ในตลาดได้ถึง 5 ปี ต่อให้เท่าทุน ก็ถือได้ว่า เป็นคนอันดับต้นๆ แล้วล่ะครับ

ผมเคยไปฟังอบรมเทคนิคอยู่ครั้งหนึ่ง วิทยากรบอกว่า ห้าปึแรกในตลาดหุ้น ทุกคนจะต้อง “จ่ายค่าเทอม”ก่อน เมื่อผ่านห้าปีแรกไปได้แล้ว ถึงจะเริ่มคาดหวังผลตอบแทนได้ (แต่ถ้าจะให้ดีต้องสิบปี) เพราะคนที่เคยเห็น “รอบใหญ่” ของตลาดหุ้นทั้งรอบแล้วเท่านั้น ที่จะรู้จักตลาดหุ้นอย่างแท้จริง ผมว่านี่เป็นวรรคทองเลยทีเดียว (แต่วรรคนี้ก็ทำเอานักเรียนในห้องหลายคนหน้าบูดไปเลย “อะไร จ่ายค่าทงค่าเทอมอะไรกัน พูดจาอัปมงคล”)

ในช่วงห้าปีนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากเกี่ยวกับตลาดหุ้น ได้ศึกษาหาความรู้มากมาย ได้รู้จักบริษัทในตลาดมากขึ้น ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมหลายครั้งในตลาดหุ้น ได้รู้จักนิสัยของคน ได้รู้ว่าสังคมคนเล่นหุ้นมีด้านมืดซ่อนอยู่เยอะมาก ได้เห็นความอนิจจัง และที่สำคัญได้รู้จักตัวเอง คือได้รู้ว่า ผมมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง มันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าครับ

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ผมพยายามเปิดใจกว้างเพื่อรับแนวคิดที่แตกต่าง จึงไม่พยายามเรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุนแนวอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่เชื่อว่า เราจะโชคดีมากถึงขนาดเจอหลักการลงทุนที่ดีจริงได้ตั้งแต่ห้าปีแรกที่เริ่มต้นลงทุน ดังนั้นเราจึงควรเปิดใจไว้ก่อน รอให้ประสบการณ์ที่ค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นของเราช่วยแยกแยะผิดถูกในปีหลังๆ จะเลือกแนวทางได้ดีกว่า ถ้าเราเป็นคนไม่ยืดหยุ่นตั้งแต่ต้น แล้วซวยดันไปเชื่อในแนวที่ผิด เส้นทางการลงทุนตลอดชีวิตของเราจะไม่ต่างจากการเดินทางไกลเพื่อไปสู่ปากเหว

เมื่อปีที่แล้วผมได้ล้างพอร์ตไป ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีเริ่มต้นของเส้นทางการลงทุนในเฟสที่ 2 ของผม ผมจึงรู้สึกเหมือนว่า ผมกำลังเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่หนนี้ ผมมีทุนตั้งต้นมากกว่าครั้งก่อน และแนวการลงทุนของผมจะมี scope ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ผมได้จากเฟสแรกเป็นวัดถุดิบในการกำหนดสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวผมเองให้มากที่สุดครับ

until the next five years.

0219: การทดลองครั้งยิ่งใหญ่

หลังจากที่ผมได้พยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ต้องการลงทุนแบบ ระยะยาวในตลาดหุ้นไทยมาได้สักพัก ถึงเวลาแล้วที่ผมจะลองทำการทดลองอะไรบางอย่าง

เป้าหมายของผมคือการออกแบบ “วิธีการลงทุน” ในตลาดหุ้นไทยที่

  1. ให้ผลตอบแทนในระยะยาวเกิน 10% ต่อปีขึ้นไป (คิดแบบ IRR) และเอาชนะตลาดได้
  2. เป็นวิธีการที่ไม่ยาก average person สามารถทำได้ทุกคน
  3. ไม่ต้องติดตามตลาดแบบใกล้ชิด (ข้อนี้สำคัญ)

จากการค้นคว้าของผม ผมคิดว่าวิธีการลงทุนต่อไปนี้น่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ขั้นตอนแรก คัดเลือกหุ้นไทยจำนวน 7 ตัว โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่อไปนี้เป็นสำคัญ

  1. เป็นธุรกิจที่น่าจะยังมีการเติบโตอยู่ต่อไปในระยะยาว (สำคัญที่สุด)
  2. ต้องเป็นบริษัทที่ established แล้วพอสมควร
  3. ไม่มีหุ้นที่อยู่ใน sector เดียวกันเกิน 3 ตัว

มีการปรับออกเป็นระยะๆ ได้ ถ้าหากเชื่อว่า หุ้นตัวดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวอีกต่อไป

ขั้นตอนที่สอง จากนั้นก็เริ่มทยอยซื้อเดือนละหนึ่งตัว สลับกันไปเรื่อยๆ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี อย่างเคร่งครัดแบบหุ่นยนต์ ห้ามเปลี่ยนลำดับ และห้ามขายเลยก่อนครบกำหนด 

เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของวิธีการนี้ ผมจึงคิดจะสร้างพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนด้วยวิธีการนี้ขึ้นมาสักพอร์ต และเพื่อความสนุกสนาน ผมเพิ่งไปเปิดบัญชีใหม่กับโบรกขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้สร้างพอร์ตดังกล่าวด้วยเงินจริงๆ ด้วย จะดูว่าอีก 15 ปีข้างหน้า มันจะเป็นยังไง

กฏการลงทุนของพอร์ตนี้

  1. หุ้น 7 ตัวแรกที่จะลงทุนได้แก่ ADVANC, BANPU, BGH, CPN, HMPRO, MINT, PS (ต่อไปสามารถปรับรายชื่อได้ ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตอีกต่อไป หรือหุ้นถูก delist หรือโดน merge)
  2. ซื้อหุ้นหนึ่งตัว ทุกวันที่ 15 ของเดือน (หรือวันทำการถัดไปถ้าตลาดปิด) ตอนปิดตลาด เป็นเงิน 25, 000 บาท (ปัดเศษลงให้ Lot size ลงตัว) หรือไม่เกิน 100 หุ้น โดยซื้อสลับตัวไปเรื่อยๆ ตามตัวอักษร (ในอนาคตหุ้นตัวใหม่มาแทนตัวไหน ก็จะได้ลำดับของตัวนั้นไปแทน)
  3. เมื่อได้รับเงินปันผลให้นำกลับไปลงทุนอีกเสมอ โดยลงทุนครั้งละ 25, 000 บาทเช่นกัน รอซื้อพร้อมเดือนถัดไป หรืออาจสำรองล่วงหน้าไว้ในกรณีที่กำลังจะมีการเพิ่มทุนก็ได้
  4. หุ้นตัวใดที่มีน้ำหนักในพอร์ตมากกว่า 30% จะโดนหยุดซื้อชั่วคราวจนกว่าน้ำหนักจะลดลง
  5. ลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี  

ธุรกรรมทั้งหมดของพอร์ตจะถูกนำมาบันทึกไว้ในบล็อกแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2552 นี้เป็นต้นไปครับ

0206: 50 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

50covergif

ขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ของผมนะครับ “50 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย” เล่มนี้ก็คือการรวมเล่มเนื้อหาในบล็อกเซ็ตเทรด ในช่วงปี 50-51 นั่นเอง พร้อมด้วยคอมเมนท์ของผู้อ่านทุกท่าน จัดพิมพ์ขึ้นเป็น Limited Edition สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บสะสมบทความตามคำเรียกร้อง 

ตอนนี้มีวางจำหน่ายแล้ว ที่สาขาของร้านบีทูเอสเท่านั้นครับ

0185: ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท.สผ.

pttep1

บรรยากาศการลงทะเบียน คนเยอะมากอย่างกับงานรับเช็คช่วยชาติ ถึงกับต้องจัดประชุมที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว สังเกตว่าผู้ถือหุ้นปตท.สผ.เป็นผู้สูงอายุเยอะมากด้วย

 

pttep1

MD ใหม่หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกอ่ะ

 

pttep1

ช็อคมาก ไม่นึกว่าจะได้เจออาจารย์ที่คณะวิศวะของผมท่านนี้ ถือหุ้นปตท.สผ.ด้วย  (ดุมาก ครับ ขอบอก)

 

pttep1

ผู้จัดการฝ่ายบัญชีโดนอาจารย์ผมย่างสดๆ ต่อหน้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น

 

pttep1

กราฟนี้ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นทันทีว่าตอนนี้ควรลงทุนในหุ้นตัวนี้หรือไม่ อิอิ

 

แถมต่อด้วยการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.บ้านปู

pttep1

บริษัทใจปล้ำสุดๆ จัดประชุมที่พลาซ่าเอธินี แถมเลี้ยงอาหารกลางวันผู้ถือหุ้นแบบไม่อั้น เลิศสุดๆ

pttep1

เส้นไหว้ผู้ถือหุ้นด้วยเนื้อหมูอันโอชะ เผื่อว่าผู้ถือหุ้นขาประจำจะกรุณา ไม่ถามคำถามแบบโหดๆ เหมือนทุกครั้ง

 

pttep1

บรรยากาศ อึม ดูน่าเกรงขามทีเดียวครับ

0180: เห็ดฟันด์เสี่ยงกว่าจริงหรือ?

ขณะนี้ ดัชนี HFRX ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดผลงานของ hedge funds ทั่วโลก ลดลง 22.7% เมื่อเทียบกับเมื่อต้นปี 2008 ในขณะที่ MSCI index ซึ่งวัดผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วทั่วโลก 23 ประเทศ ลดลงมากถึง 38% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ยามตลาดหุ้นดี ว่ากันว่า เห็ดฟันด์ได้กำไรมากกว่า แต่พอตลาดหุ้นไม่ดี เห็ดฟันด์ก็ขาดทุนน้อยกว่าด้วย อย่างนี้ก็เท่ากับว่า ที่จริงแล้ว เห็ดฟันด์ให้ upside สูงกว่าแต่ให้ downside ต่ำกว่าด้วย ในทางการเงินต้องถือว่า superior than MSCI index fund แล้ว

 ที่เราเชื่อๆ กันมาตลอดว่า เห็ดฟันด์เสี่ยงกว่ากองทุนรวมแบบธรรมดา ดูเหมือนจะไม่ใช่ความจริงเสียแล้ว

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ดัชนี HFRX ตัวนี้มีรายละเอียดในการจัดทำดัชนีอย่างไร เหตุที่ร่วงลงน้อย ไม่รู้ว่าเกิดจาก survivalship bias บ้างหรือเปล่า ถ้าจะให้แฟร์ๆ คงต้องหาดัชนีที่วัดผลงานของกองทุนรวมมาเป็นตัวเปรียบเทียบแทน MSCI แต่ผมเดาว่า ผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกันเท่าไรนัก

ที่จริงแล้ว การที่เห็ดฟันด์ไม่ถูกควบคุมจาก กลต.กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะเวลาที่เกิดวิกฤตรุนแรง เห็ดฟันด์สามารถปรับตัวเพื่อลดผลขาดทุนได้อย่างเต็มที่ ช่วง 4 เดือนหลังนี้ HFRX แทบไม่ตกลง ในขณะที่ MSCI ยังตกต่อเนื่อง เพราะดูเหมือนบรรดาเห็ดฟันด์จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับตลาดขาลงกันอย่างเต็มที่ ในขณะที่ พวกกองทุนรวมซึ่งติดข้อบังคับต่างๆ เต็มไปหมดขยับตัวได้ยากกว่า เลยทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นว่ากฏเกณฑ์ต่างๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อปกป้องนักลงทุนนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายนักลงทุนแทน

ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยความเชื่อหลายอย่างที่เชื่อตามๆ กันมาโดยไม่มีการตรวจสอบ เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในนั้น

0106: PS’s Analyst Meeting on Jan 9th

มีข่าวฝากประชาสัมพันธ์ครับ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตทจะจัดแถลงแผนธุรกิจสำหรับปี 2551 ในวันพุธที่ 9 มกราคม 2551 นี้ ที่ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชดำริ เริ่มเวลา 9.00 น.

งานนี้เป็นงานสำหรับนักวิเคราะห์ แต่บริษัทบอกว่ายินดีต้อนรับนักลงทุนรายย่อยทุกท่านที่สนใจด้วยไม่มีค่าใช้จ่าย (งานนี้ผมไปฟังด้วย แต่หุ้นดีหรือไม่ดีต้องไปฟังกันเอาเอง ผมแค่ประชาสัมพันธ์งานให้เขาเฉยๆ)