0021: โอกาสทางธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร?

Tao Zhugong เป็นกุนซือในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกที่ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้า เขาได้นำประสบการณ์ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาใช้ในธุรกิจของเขาจนประสบความสำเร็จและได้กลายเป็นแบบอย่างของหลักการทำธุรกิจของชาวจีน

ครั้งหนึ่งได้เกิดกบฎน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของแคว้นลู เจ้าแคว้นลูจึงได้ออกคำสั่งให้พวกเจ้าศักดินาทั้งหลายออกปราบกบฏ เจ้าศักดินาเหล่านั้นจึงต้องการเงินจำนวนมากเพื่อเตรียมทรัพยากรสำหรับออกรบ พวกเขาจึงเอ่ยปากขอยืมเงินจากบรรดาพ่อค้าคหบดีทั้งหลายรวมทั้ง Tao Zhugong ด้วย

พ่อค้าทั้งหลายรู้สึกวิตกกังวลมากเพราะเกรงว่าหากให้ยืมเงินแล้วเจ้าศักดินาเหล่านั้นแพ้สงครามหนี้ก็จะสูญ พ่อค้าเหล่านั้นถาม Tao Zhugong ว่าคิดเห็นอย่างไร Tao Zhugong บอกว่าถึงแม้การให้ยืมเงินลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ธุรกิจทุกอย่างก็ต้องมีความเสี่ยง เขายินดีให้เจ้าศักดินาเหล่านั้นยืมเงิน แต่ต้องใช้คืนด้วยเงิน 10 เท่า เขาบอกว่า โอกาสชนะหรือแพ้สงครามเท่ากับ 50:50 แต่ถ้าเขาให้เจ้าศักดินายืมเงินสัก 10 ราย ด้วยผลตอบแทนที่สูงถึง 10 เท่า ขอเพียงแค่มีหนึ่งคนเท่านั้นที่ชนะสงคราม เงินต้นของเขาก็จะไม่สูญ เจ้าศักดินาเหล่านี้มีความสามารถในการใช้คืนหนี้สูงเพราะถ้าชนะสงครามพวกเขาจะได้ครอบครองที่ดินจำนวนมากซึ่งสามารถเก็บค่าเช่านำเงินมาชำระหนี้ได้ เขามองว่านี่เป็นโอกาส

พ่อค้าเหล่านั้นเห็นว่า Tao Zhugong จะคิดดอกเบี้ย 10 เท่า จึงเดาว่า Tao Zhugong คงรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนถึงได้คิดดอกเบี้ยสูงขนาดนั้น พ่อค้าเหล่านั้นจึงปฏิเสธเจ้าศักดินาที่เดินทางมาขอยืมเงินและบอกให้ไปหา Tao Zhugong ทำให้เจ้าศักดินาทุกคนเดินทางมาขอยืมเงินกับ Tao Zhugong แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงมากแต่เจ้าศักดินาเหล่านั้นก็ยินดียืมทุกคนเพราะพวกเขากำลังต้องการเงินอย่างมากและไม่มีพ่อค้าคนใดกล้าให้พวกเขายืม

เมื่อสงครามสงบมีเจ้าศักดินาชนะสงครามจำนวนมากกว่าที่ Tao Zhugong ประเมินไว้มาก Tao Zhugong จึงได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากการให้ยืมเงินในครั้งนั้น

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โอกาสทางธุรกิจทุกชนิดมีความเสี่ยงทั้งนั้นไม่มากก็น้อย โอกาสทางธุรกิจที่ดีไม่ใช่โอกาสที่มีความเสี่ยงน้อยแต่เป็นโอกาสที่มีผลตอบแทนคาดหวังที่คุ้มค่าเกินความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้อย่างดีแล้ว…

0018: Growth vs. Value (การทดลอง)

ในตลาดหุ้น ยังมีนักลงทุนสองกลุ่มที่มีแนวการลงทุนที่ไปคนละทาง ได้แก่

1. นักลงทุนแนวเติบโต ที่ชอบหุ้นที่มี Growth Story ที่สวยหรู ถือคติ ของดีจริงไม่ต้องเกี่ยงราคา
2. นักลงทุนแนวคุณค่า ที่ชอบ stable business ที่มี P/E ต่ำๆ ถือคติ พีอีต่ำแปลว่าถูก

ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่แปลกสำหรับผม เพราะดูเหมือนวิธีหนึ่งจะดูแค่คุณค่า (การเติบโต) โดยไม่ดูราคา ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็ดูแต่ราคา (พีอี) โดยไม่ดูคุณค่า แต่เอาเถอะ ในเมื่อทั้งสองวิธีนี้เป็นที่นิยมกันในตลาด ผมอยากจะลองทำการทดลองสนุกๆ ว่าวิธีไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน ด้วยการทดลองจัดพอร์ตสองพอร์ตๆ ละ 3 ตัว (ซื้อตัวละ 33 % โดยมูลค่าพอร์ต) ตามแนวทางทั้งสองแนวที่ว่านี้ แล้วดูว่าพอร์ตไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากันในที่สุด

พอร์ตด้านซ้ายมือเป็นพอร์ตเติบโต ขอเลือกหุ้นที่มี story หรูสุดตอนนี้ 3 ตัวโดยไม่เกี่ยงราคา ส่วนพอร์ตทางขวาเป็นพอร์ตคุณค่าขอเลือกหุ้น stable business ที่มีพีอีต่ำ 3 ตัว

portfolio.gif

ในวันที่ 18 พย.50, 51 และ 52 เราจะกลับมาดูอีกครั้งว่า ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปี, เฉลี่ย 2 ปีและเฉลี่ย 3 ปีของทั้งสองพอร์ตนี้จะแตกต่างกันอย่างไร (Capital Gain + Dividend (not reinvested)) วิธีไหนจะแน่กว่ากัน 

ถ้าผมลืมเตือนผมด้วยนะ ทดลองดูสนุกๆ ครับ

0017: Asset Play

มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่ง เรียกว่า Asset Play วิธีนี้คือการหาว่าบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรที่มีมูลค่าซ้อนเร้นอยู่หรือไม่ ถ้าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนค่าของสินทรัพย์นั้น การเข้าไปซื้อหุ้นนั้นไว้ก็ถือว่าเป็นการซื้อของลดราคา

ตัวอย่างยอดนิยมของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงก็คือ ที่ดิน เพราะที่ดินจะถูกลงบัญชีที่ราคาต้นทุนที่ซื้อมา และจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอีกสักกี่สิบปี ถ้าคุณออกแรงสักนิดด้วยการตรวจดูที่ดินของบริษัทต่างๆ ในตลาดว่ามีอยู่กี่ไร่ นำมาคูณด้วยราคาประเมินของกรมที่ดินในปัจจุบัน คุณอาจพบที่ดินของบางบริษัทที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าตลาดของทั้งบริษัทหักด้วยหนี้สิน หุ้นนั้นเสียอีก หุ้นเหล่านี้คือ Asset Play

ปัญหาสำคัญของการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะสะท้อนมูลค่าแฝงของสินทรัพย์นั้นเสียที ในบางกรณีผู้บริหารของบริษัทยังดำเนินงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่จึงไม่นำพาต่อหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชน ได้แก่ การ maximize shareholder’s value แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการขายที่ดินนั้นเสียแล้วย้ายโรงงานไปอยู่ในที่ที่ที่ดินราคาต่ำลงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบริษัท แต่ก็ไม่ทำเพราะเป็นความรู้สึกผูกพันกับสมบัติประจำตระกูล อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยที่ไปเข้าไปซื้อหุ้นเอาไว้ก็บอกได้คำเดียวต้องรอจนเหงื่อแห้งครับ

การลงทุนในตลาดหุ้นมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ราวปีละ 10% เสมอ ถ้าคุณถือหุ้น Asset Play ไว้เฉยๆ หนึ่งปีแล้วราคาไม่ไปไหน ก็ต้องถือว่าขาดทุนไปแล้ว 10% ไม่ใช่เสมอตัว ยิ่งถ้าต้องรออีก 10 ปี ผู้บริหารคนเก่าจึงจะแก่ตาย ผู้บริหารคนใหม่จึงจะสั่งขายที่ดิน ก็ต้องถือว่า คุณขาดทุนหุ้นตัวนั้นหมดทั้ง 100% แล้ว ดังนั้นถ้าดูแล้วไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสสะท้อนมูลค่าที่แฝงอยู่ได้ การเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็นับว่าค่อนข้าง “ลมๆ แล้งๆ” ครับ

Asset Play จะได้ผลเฉพาะกับนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วนที่มากพอที่จะเข้ามาควบคุมบริษัทได้เท่านั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นจนเกิน 51% ไล่กรรมการชุดเก่าออกให้หมด ขายที่ดิน นำเงินสดที่ได้ไปใช้หนี้บริษัท เลิกบริษัท แล้วนำเงินที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า แบบนี้คุ้มค่าแน่นอนครับ

คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ผู้ถือหุ้น คุณคือเจ้าของ” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณและพวกอีกอย่างน้อย 24 คนมีปัญญาซื้อหุ้นรวมกันได้แค่ไม่เกิน 10% ก็ต้องขอบอกว่า คุณและพวกปราศจากอำนาจในการควบคุมบริษัทมหาชนโดยสิ้นเชิง แค่ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้เลย ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบ Asset Play ให้ประสบความสำเร็จดูจะมีข้อจำกัดมากสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เวลาที่คุณซื้อหุ้น คุณควรซื้อความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะซื้อเพราะสินทรัพย์ (ถ้าคุณอยากได้โต๊ะและเก้าอี้สำนักงานเหล่านั้น ไปซื้อที่ชั้น 5 มาบุญครองก็ได้ครับ ไม่ต้องไปซื้อหุ้นหรอก)  เพราะสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่หุ้นที่ตนเองถืออยู่เป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างแน่นอนโดยเสมอภาคกัน

0008: วิธีป้องกันการเจ๊งหุ้น

อยากมีวิธี save ตัวเองจากการเจ๊งหุ้นมั้ยครับ ผมมีวิธีง่ายๆ ที่จะแนะนำ วิธีนี้มีกฏอยู่แค่ 2 ข้อ คือ
1. ห้ามซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นเกินพื้นฐานระยะยาวอย่างเด็ดขาด
2. พยายามมีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา โดยไม่ให้ขัดกับกฎข้อแรก

ตอนที่ NASDAQ วิ่งขึ้นติดต่อกันนาน 8 ปี ใครบ้างจะอดใจไหวที่จะไม่ซื้ออะไรเลย 8 ปี แรกๆ ก็จะบ่นว่าพีอี 50 เท่าแพง แต่พอสามสี่ปีต่อมาหุ้นก็ยังวิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ก็จะเริ่มบอกว่าพีอี 70 เท่าไม่แพง ในที่สุดเมื่อ market correction (ฟองสบู่แตก) คุณก็จะเจ๊งหุ้น เพราะคุณได้ซื้อหุ้นมาในต้นทุนที่สูงกว่าพื้นฐานระยะยาว

คุณอาจจะเถียงว่า “ไม่เป็นไร ราคาพื้นฐานไม่สำคัญ ผมอาศัยการเข้าเร็วออกเร็ว” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณเข้าเร็วออกเร็ว คุณก็จะได้กำไรน้อยมาก สุดท้ายแล้วถ้าราคาหุ้นยังวิ่งต่อ คุณก็จะทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อใหม่อีก 

การเทรดบ่อยๆ เป็นความเสี่ยงที่มองไม่เห็น เพราะหุ้นในพอร์ตของคนที่เทรดบ่อยๆ หุ้นจะมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิด market crash ขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบอย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ จะมีเฉพาะหุ้นบางตัวที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เท่านั้นที่มีต้นทุนใกล้กับราคาตลาด พอร์ตจึงกระทบน้อยกว่า เพราะตัวทีซื้อมานานแล้วจะยังกำไรอยู่ 

แต่ช่วง 8 ปีที่ NASDAQ วิ่งนั้น นักลงทุนอย่าง วอเรนบัฟเฟต รอดตายเพราะแกไม่ได้ซื้ออะไรใหม่อย่างมีนัยสำคัญเลยตลอด 8 ปี ความยึดมั่นในกฎข้อที่ 1 ทำให้แกรอดตาย

แต่การทำอย่างนั้นก็คงทำให้เสียโอกาสใช่ไหมครับ เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่นาน 8 ปี การไม่ซื้ออะไรเลยเป็นเวลา 8 ปี พอร์ตจะมีผลตอบแทนเป็น 0

ด้วยเหตุนี้คุณจึงต้องทำกฏข้อที่ 2 ด้วย คือ มีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่ แล้วคุณไม่ซื้ออะไรเลย พอร์ตของคุณก็ยังสร้างผลงานให้คุณได้เพราะคุณมีหุ้นเต็มพอร์ตอยู่ พวกมันจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามตลาดโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย การขายออกแล้วซื้อตัวใหม่อันตรายกว่าเพราะทำให้คุณต้องรับต้นทุนใหม่ ส่วนการ take profit โดยไม่กลับเข้าไปซื้อใหม่ก็ไม่ดีเหมือนกันเพราะคุณต้องมาถือเงินสดเอาไว้แทนทำให้ได้ผลตอบแทนน้อย การถือหุ้นเต็มพอร์ตไว้เฉยๆ จึงดีที่สุด 

จำไว้ว่าในระยะยาวหุ้นจะขึ้นได้แค่เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) ถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆ ในระยะสั้นเพราะภาวะตลาด สุดท้ายแล้วพวกมันจะต้องกลับลงมาใหม่ เพื่อให้ในระยะยาวมันขึ้นได้เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเอง ดังนั้นการถือหุ้นตัวเดิมไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวไปมาไม่ได้ทำให้รวยช้าหรอกครับ   

0007: Dollar Cost Averaging

Dollar Cost Averaging หมายถึงการทยอยซื้อหุ้นครั้งละเท่าๆ กันเมื่อคิดเป็นจำนวนเงิน เช่น ถ้าตั้งใจจะซื้อหุ้นสัก 12000 บาท แทนที่จะซื้อครั้งเดียว 12000 บาทเลย ก็อาจจะแบ่งซื้อ 1000 บาทต่อเดือนเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากเราซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ถ้าในระยะเวลาหนึ่งปีนั้นหุ้นตัวนั้นเป็นขาลง เราก็จะได้จำนวนหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ สรุปแล้วเราก็จะได้จำนวนหุ้นมากกว่าการซื้อครั้งเดียว ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้มือใหม่ลงทุนด้วยวิธีนี้เพื่อลดโอกาสที่จะขาดทุนครั้งละมากๆ หากหุ้นที่ซื้อมีราคาปรับตัวลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อย่าลืมว่าเมื่อหุ้นเป็นขาลงหนึ่งปีได้ หุ้นก็มีสิทธิ์เป็นขาขึ้นหนึ่งปีได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้แม้จะทำให้โอกาสในการขาดทุนหนักๆ น้อยลง แต่ก็ทำให้โอกาสที่จะกำไรมากๆ ลดลงด้วย เพราะถ้าเราซื้อครั้งเดียวด้วยเงินทั้งหมด แล้วหุ้นเป็นขาขึ้น เราจะได้กำไรมากกว่าการทยอยซื้อ ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาทั้งโอกาสและความเสี่ยงแล้ว วิธี Dollar Cost Averaging จึงไม่ได้ให้ risk-adjusted return ที่แตกต่างไปจากการซื้อทั้งหมดในครั้งเดียว (investors are not better off)

ยิ่งในกรณีที่คุณเชื่อว่าหุ้นที่คุณจะซื้อมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง เช่น (ขึ้น 70 ลง 30) คุณยิ่งไม่ควรใช้ Dollar Cost Averaging เข้าไปใหญ่เพราะกรณีเช่นนี้กลับทำให้ risk-adjusted return ต่ำลง (ยกเว้นคุณคิดว่าหุ้นที่จะซื้อมีโอกาสลงมากกว่าขึ้นอย่างนี้ DCA จะช่วยได้ แต่ผมว่าถ้าเราคิดว่ามันจะลง เราน่าจะอยู่เฉยๆ มากกว่านะครับ จะเสี่ยงซื้อไปทำไม)

สรุปก็คือ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการลงทุน วิธี Dollar Cost Averaging จะไม่แตกต่างจากวิธีปกติ ส่วนนักลงทุนที่มีความรู้และพยายามเลือกซื้อหุ้นที่ตนเองคิดว่ามีโอกาสขึ้นมากกว่าลงเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีนี้เลยเพราะจะได้ risk-adjusted return ที่ต่ำกว่าเดิม

0006: กระจายความเสี่ยงให้เป็น

โบราณว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” คตินี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการลงทุน หมายความว่า เราไม่ควรลงเงินทั้งหมดไปกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว

ประมาณยุคปี 70 ได้มีผู้ใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ว่าการซื้อหุ้นหลายๆ ตัวสามารถลดความเสี่ยงได้โดยไม่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังลดลงในสัดส่วนที่มากเท่า นายคนนี้มีชื่อว่า Harry Markovitz วิทยานิพนธ์ของนายคนนี้มีความยาวแค่ 16 หน้าเท่านั้น แต่ปฏิวัติวงการการเงินโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนอาชีพจำนวนมากต่อต้านแนวคิดนี้และบอกว่าที่จริงแล้วเราอาจ ใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวก็ได้ ถ้าเราพยายามถือตะกร้าใบนั้นไว้ให้ดีที่สุด หมายความว่า จะลงทุนอะไรนั้น สำคัญที่สุดก็คือเรารู้จริงในสิ่งที่เราลงทุนขนาดไหน ถ้าเรารู้จริง การกระจายความเสี่ยงแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย

ผมจะไม่ขอถือหางข้างใดข้างหนึ่ง ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าแนวการลงทุนทุกแนวล้วนแล้วแต่มีส่วนถูกทั้งนั้น ไม่มีวิธีไหนที่ถูกหมดหรือผิดหมด ของส่วนใหญ่ในโลกนี้มักเป็นสีเทามากกว่าที่จะเป็นสีขาวหรือสีดำไปเลย ดังนั้นในที่นี้ผมจึงไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ขอตั้งข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงแทน ดังนี้

ผมเคยฟังรายการ Talk show เรื่องการลงทุนรายการหนึ่งในโทรทัศน์ พิธีกรถามผู้เชี่ยวชาญว่า ถ้าปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะมีความผันผวนมาก นักลงทุนควรรับมืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญตอบว่า นักลงทุนควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง

คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ฟังแล้วขัดหูผมยิ่งนัก เพราะเป็นคำตอบที่ผิด ที่ผมบอกว่าผิดไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อ Markovitz แต่ที่ผิดเพราะแม้แต่ Markovitz เองได้ฟังดังนี้ก็จะบอกว่าผิดด้วย อย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยเป็น systematic risk คือเป็นความเสี่ยงของทั้งตลาด ความเสี่ยงของทั้งตลาดนั้นไม่สามารถถูกทำให้ลดลงได้ด้วยการกระจายความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดได้เฉพาะ unsystematic risk เท่านั้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงเฉพาะของหุ้นแต่ละตัว เช่น สุขภาพของผู้บริหาร การที่โรงงานอยู่ใกล้โรงเก็บระเบิด โอกาสในการถูกผู้บริโภคฟ้องร้อง ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการกระจายความเสี่ยงมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถพึ่งการกระจายความเสี่ยงแต่เพียงอย่างเดียวได้ หุ้นทุกตัวที่เราซื้อจะต้องเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดีในตัวของมันเองทุกตัวด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นบางตัวเพื่อต้องการให้พอร์ตของเรามีการกระจายความเสี่ยงเท่านั้น ผมถือคติว่า ถ้าคุณพบโอกาสที่ดีมากกว่าหนึ่งในตลาดหุ้น การมีหุ้นหลายตัวย่อมดีกว่าการมีหุ้นตัวเดียว แต่ถ้าคุณหาโอกาสที่ดีได้แค่โอกาสเดียว ผมขอแนะนำให้คุณถือหุ้นแค่ตัวเดียวนั่นแหละ พูดง่ายๆ ก็คือ คุณภาพของโอกาสต้องมาก่อน ส่วนการกระจายความเสี่ยงนั้นถ้าทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องดันทุรัง จำไว้ว่าส้มเน่าลูกใหญ่หนึ่งลูก กับส้มเน่าลูกเล็ก 5 ลูก ไม่แตกต่างกันมากหรอกครับ

0001: เราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร

ปี 2546 เป็นปีทองของนักเล่นหุ้น เพราะดัชนี SET index วิ่งติดต่อกันนานถึง 11 เดือนโดยไม่พักเหนื่อยเลย บางท่านได้กำไรมากถึง 50% ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และเริ่มมีความคิดที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นอย่างเดียว เพราะได้มากกว่าการทำงานกินเงินเดือนเป็นอย่างมาก

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ปี 2546 ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นไปมากถึง 100% ที่จริงแล้วการที่พอร์ตของคุณวิ่งแค่ 50% นั่นแสดงว่าคุณทำผลงานได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร ควรวัดว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซนต์ (Absolute Return) หรือว่าเราชนะตลาดที่เปอร์เซนต์ (Relative Return)

ที่จริงแล้วเราควรวัดผลงานของเราจาก Relative Return มากกว่า เพราะถ้าเราทำผลงานเป็นบวกได้แต่ได้น้อยกว่าตลาด เราก็ไม่ควรเล่นหุ้นด้วยตัวเอง ควรหันไปซื้อ Index Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนเหมือนดัชนีแทนจะดีกว่า เพราะวิธีนี้ไม่ต้องใช้สมองเลยแต่ทำผลงานได้เท่าตลาดทุกปี

ดังนั้นคนที่เล่นหุ้นด้วยตัวเองทุกคนจึงควรวัดผลงานของพอร์ตโดยเทียบกับตลาด แม้ว่าจะหมายถึงการที่คุณต้องรู้สึกอะไรแบบผิดธรรมชาติไปบ้างตัวอย่างเช่น ในปีที่พอร์ตของคุณขาดทุน 20% แต่ ตลาดปรับตัวลง 40% เป็นปีที่คุณควรจะดีใจจนลิงโลด ในขณะที่ถ้าปีไหนพอร์ตของคุณได้กำไร 50% แต่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% คุณก็ควรจะเสียใจ

นอกเหนือจากการวัดผลงานโดยเทียบกับตลาดแล้ว คุณควรตัดสินผลงานของคุณโดยเทียบกับตลาดในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวอีกด้วย อย่างน้อยก็ควรจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี อย่าพยายามเอาชนะตลาดให้ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือแม้แต่ทุกไตรมาส เพราะมันจะบีบบังคับให้คุณมองระยะสั้นมากเกินไป อันจะส่งผลเสียต่อผลงานของคุณในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า การเลือกซื้อกองทุนโดยดูจากผลงานเมื่อปีที่แล้ว จะไม่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ เพราะกองทุนที่ทำผลงานได้ดีติดอันดับเมื่อปีที่แล้วจะมีชื่อปรากฏอยู่ในอันดับในปีต่อไปน้อยมาก จำไว้ว่าไม่มีหุ้นตัวใดในโลกที่บวกทุกวัน หุ้นที่วิ่งทุกตัวจะบวกบ้างลบบ้าง แต่รวมๆ กันแล้วในระยะยาวบวกมากกว่าลบ ก็เลยทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ 

สำหรับผม ผมวัดผลงานของพอร์ตในช่วง 1, 3, 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าผลงาน 1 ปี ไม่ดีผมจะเชื่อแค่ 50% ว่าผมไม่ได้เรื่อง ถ้าผลงาน 3 ปีของไม่ดี ผมจะเชื่อว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง 70% แต่ ถ้าผลงาน 5 ปีของผมแพ้ตลาด ผมจะมั่นใจ 100% ว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง ส่วนผลงานรายวัน รายเดือน และรายไตรมาส ผมไม่เคยใส่ใจเลยครับ

0000: เรื่องยิ่งใหญ่ที่ใครก็ทำได้

เมื่อได้ยินคำว่าตลาดหุ้นพวกเรามักรู้สึกขยาด และคนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นก็มักขาดทุน แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและสูงกว่าการฝากธนาคารเป็นอย่างมาก นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ล้มเหลวเป็นเพราะ พวกเขาต้องการเห็นผลกำไรอย่างรวดเร็ว

คนสองคนที่มีความสามารถในการหารายได้ได้เท่ากันตลอดชีวิต คนที่เลือกเก็บเงินออมส่วนใหญ่ของเขาไว้ในตลาดหุ้นตลอดเวลาจะสามารถทำให้เงินออมของเขาใหญ่ขึ้นได้มากกว่าคนที่เลือกฝากเงินนั้นไว้ในธนาคารเป็นอย่างมาก ถ้าเงินออมของคุณเท่ากับ 20 ล้านบาทเมื่อไร คุณก็จะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพราะเงิน 20 ล้านบาท ถ้านำไปฝากธนาคาร จะได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาทต่อปี   

ถ้าคุณเกิดมาไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษอะไรเลย คุณก็ยังสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งอย่างในชีวิตไว้เป็นความภูมิใจเล็กๆ ของคุณได้ด้วยการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นให้ประสบประสบความสำเร็จ สิ่งมหัศจรรย์สิ่งนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถใดๆ เป็นพิเศษ นอกจากความมุมานะที่มากกว่าคนทั่วไป แค่นั้นก็พอ

พร้อมที่จะไปเอาเงิน 20 ล้านหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว ตามผมมาเลย!