แนวคิดของนักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว

ทุกวันนี้ ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ล้ำหน้าไปมาก อาจจะเรียกได้ว่า อยู่คนละยุคกับบ้านเรา ประมาณว่า แนวทางที่เรากำลังเริ่มๆ ผลักดันให้นักลงทุนใช้มากขึ้น กลับเป็นแนวทางที่ประเทศเหล่านี้กำลังมีคนใช้น้อยลงเรื่อยๆ เลยก็ว่าได้

อย่างในสายเทรดเดอร์เวลานี้ machine trading แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นกระแสหลักของตลาดที่พัฒนาแล้วไปแล้วก็ว่าได้ โวลุ่มของตลาดหุ้นนิวยอร์กทุกวันนี้ก็เป็น machine trading มากกว่า 50% ไปแล้ว จะเรียกว่าเป็นของใหม่ก็คงไม่ใช่ แต่พอจะเรียกว่าเป็นกระแสหลักได้แล้วมากกว่า ย่ิงคิดถึง AI ที่กำลังบูมมากในสหรัฐฯ ตอนนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า machine trading อาจจะกลายเป็นโวลุ่มเทรดกว่า 90% ในโลกอนาคต เพราะอัลกอริทึมในการเทรดจะถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เหลือเหตุผลที่มนุษย์ธรรมดาจะเทรดเองอีกต่อไป

ในสายลงทุน ผมยกให้ Passive Investment เป็นแนวทางที่มาแรงที่สุด ดังจะเห็นได้จาก ทุกวันนี้ กระแสเงินสดไหลเข้า Passive ETFs ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ กระแสเงินสดไหลกลับกำลังออกจาก Active Funds เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ พัฒนาไปถึงระดับที่การเอาชนะตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีสารพัดกองทุนทั้งกองทุนรวม เฮ็ดจ์ฟันด์ ไพร์เวทเอควิตี้ อัลกอริทึ่มเทรด ไฮฟรีเควนซีเทรด หุ้นตัวใหญ่มีนักวิเคราะห์ติดตามเป็นร้อยๆ คน เรียกว่า เต็มไปด้วยคนที่ช่วยกันขุดหา excess returns แล้ว arbritrage จนแทบไม่เหลือช่องว่างอะไรให้ทำกำไรกันง่ายๆ แล้ว Passive Investing จึงได้รับความนิยม เพราะการันตีเสมอว่า เราจะไม่แพ้ตลาด (แม้ว่าจะไม่ชนะด้วยก็ตาม) เพราะการชนะตลาดนั้นทำได้ยากมาก เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ในอนาคต สายลงทุนจะมีแต่คนลงทุนผ่าน Passive ETFs (ปี 2013 index funds ถือครองสินทรัพย์ 20% ของอุตสาหรกรรมกองทุนทั้งหมด และกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ)

แม้แต่เบิร์กไชฮาร์ดาเวย์ ของวอเรน บัฟเฟต ซึ่งยังทำผลตอบแทนระยะยาว 40 ปีชนะตลาดได้ แต่ถ้าหากคิดเฉพาะช่วงปี 1999-2013 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นยุคใหม่ เบิร์กไขส์ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียงปีละ 6.4% เท่านั้น ซึ่งยังชนะ S&P index ที่ 4.7% อยู่ แต่ว่าไม่ได้มาก และแพ้พวก small-cap index (10.5%) แบบทิ้งห่างเลย  ปัจจุบันเรายังพบวิธีเอาชนะ S&P index ได้อยู่ ได้แก่ การลงทุนใน small value stocks หรือเลือกหุ้นด้วย ROE และ momentum เป็นต้น แต่ส่วนต่างผลตอนแทนถือว่าแคบมาก และแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ส่วนต่างจะหายไปในที่สุด ทำให้ Passive Investing กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

สำหรับบ้านเรา มีเหตุผลอยู่เหมือนกันที่จะยังคงใช้ Active Investing ต่อไป เพราะตลาดหุ้นบ้านเรายังพัฒนาไปไม่ถึงจุดเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้ช่องว่างในการทำกำไรน่าจะยังเหลืออยู่มากพอสมควร (อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากพอ ทำให้ไม่ทราบเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นรึเปล่า)แต่ในอนาคต ถ้าหากเทคโนโลยี หรือโนฮาว์จากต่างประเทศไหลเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะมีสภาพเดียวกับตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็มีสูง ไม่เสียหายอะไรหากนักลงทุนจะศึกษาเทรนด์การลงทุนในต่างประเทศไว้บ้าง เป็นการเตรียมตัวเพื่ออนาคตครับ      

 

(ภาพประกอบจาก businessinsider.com)

สภาพแวดล้อม กับ กลยุทธ์

คนเรามีความโน้มเอียงที่จะชอบกฎที่ตายตัว แบบว่าใช้การได้ในทุกสถานะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องคิดอะไรเองอีก ความเชื่อต่างๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้

แต่ในแง่กลยุทธ์ ซุนวูกล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมให้ถ่องแท้ให้ได้เสียก่อน รู้เขา รู้เรา จากนั้นเราจึงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้เปรียบมากที่สุด โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมนั้นๆ เป็นเกณฑ์ ในแง่นี้ มันบอกเป็นทางอ้อมว่า กลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว แต่ต้องปรับไปตามสภาพแวดล้อมด้วย (แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่า กลยุทธ์ไม่มีหลักอะไรเลย ต้องมีหลัก แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หลักก็ต้องเปลี่ยนตาม)

ตลาดทุนยุคนี้มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากยุค 30-50’s ที่เป็นยุคที่หลักการลงทุนของหลายๆ สำนักถูกสร้างขึ้นมา ธุรกิจสมัยใหม่มีความเป็น “โรงงาน” น้อยลง มี intangible value มากขึ้น ตลาดการเงินก็ถูกบิดเบือนโดยนโยบายการเงินมากขึ้น ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำผิดปกติตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับธนาคารสมัยก่อนที่เน้นรัดเข็มขัด เพราะกลัวเงินเฟ้อมากๆ ตอนนี้เงินฝืดน่ากลัวมากกว่า

นั่นหมายความว่า หลักการลงทุนบางอย่างที่เคยใช้ได้ดีในอดีต บางจุดก็ยังคงใช้ได้ดีอยู่ แต่บางจุดที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ก็อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น P/BV เป็นอัตราส่วนที่เคยใช้ได้ดีในยุคอดีตที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีอาคารโรงงานเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์หลัก แต่ทำให้เราหลงทางในยุคปัจจุบัน เพราะธุรกิจสมัยนี้แบรนด์ ทุนมนุษย์ และเทคโนโลยี กลายเป็นส่วนที่มีค่ามากกว่าสินทรัพย์ถาวรของบริษัทอย่างมากมาย แต่มันไม่ได้ถูกใส่ไว้ใน P/BV เลย ในขณะที่ P/E นั้น พอจะใช้ต่อไปได้มากกว่า

ตลาดหุ้นสมัยใหม่ เงินท่วมโลกตลอดเวลา ตลาดมีแนวโน้มจะเป็น High Valuation แบบเรื้อรัง แนวคิดเรื่อง Buy-and-hold ต้องใช้แบบระมัดระวัง เพราะโอกาสที่จะไปซื้อเอาตอนฟองสบู่มีเยอะมาก เพราะหุ้นแพงอยู่เกือบตลอดเวลา ธุรกิจสมัยนี้ยังมีวงจรชีวิตที่สั้นลงเรื่อยๆ การถือลืม มักอันตราย เพราะยุคตกต่ำของธุรกิจมาถึงเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คนที่จะ Buy-and-hold ได้ดีต้องเป็นนักรอคอย เพราะต้องรอนานมากๆ กว่าราคาหุ้นจะลงมาถึงจุดที่สมเหตุสมผลจริงๆ ซึ่งบางทีก็ต้องรอนานมากเสียจน ทำให้กลยุทธ์สมัยนี้ไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ในยุคสมาธิสั้นอีกต่อไป ถ้านักลงทุนระยะยาวเปลี่ยนจากการคิดแต่ว่าจะ buy-and-hold มาเป็นการ reevaluate หุ้นเป็นระยะๆ ถ้ายังดีอยู่ก็ถือต่อได้ ถ้าไม่ดีแล้วก็ต้องขาย ก็น่าจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากกว่า 

กฎอย่างเช่นการถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ก็ดูเป็นกฎที่ไม่เหมาะกับยุคนี้เท่าไร เพราะยุคนี้หุ้นแพงตลอดเวลา แต่เพราะความเป็นฟองสบู่ โอกาสที่อยู่ดีๆ มันจะ crash แรงๆ จึงมีได้บ่อยๆ ถ้าถือหุ้น 100% ตลอดเวลา เวลา crash ทีไร เราก็ไม่เคยมีเงินสดมาซื้อสักที ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีหุ้นต้นทุนสูงตลอด ส่วนประเภทถือเงินสด 100% ตลอดเวลารอหุ้น Crash อย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะดี เพราะบางทีมันก็ไม่ crash สักที หรือบางทีมันขึ้นไปเยอะมากจนพอมัน crash จริงๆ มันยังลงมาไม่ถึงตอนแรกที่ตัดสินใจว่าจะรอเลย ไปๆ มาๆ  กฎการลงทุนแบบ DCA ดูเหมาะสมดี เพราะถ้าหุ้นแพงตลอดก็ซื้อไว้บ้างแต่เดือนละนิดเดียว ทำให้มีเงินสดเหลือไว้รอโอกาสเฉลี่ยต้นทุนต่ำๆ เมื่อโอกาสมาถึงได้ด้วย  ถือเป็น best of both worlds สำหรับ average person

ที่เล่ามาเป็นแค่การยกตัวอย่างนะครับ ลองพิจารณาวิธีการลงทุนของตัวเองดูว่า มันเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขนาดไหน เผื่อมีอะไรที่จะต้องปรับ เพื่อช่วยให้ผลตอบแทนของเราดีขึ้น

รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น

ยุคนี้เป็นยุคที่คนอยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากเกษียณตั้งแต่ยังไม่แก่ และ/หรืออยากเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน และตลาดหุ้นก็เป็นตัวเลือกยอดนิยมที่คนใช้ทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ ตลาดหุ้น”ดู”เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด การทำงานประจำเป็นหนทางที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวยเร็วๆ ส่วนการออกมาทำธุรกิจส่วนตัวก็ดูเป็นงานที่ต้องเหนื่อยแสนสาหัส ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้นดูเหมือนเป็นวิธีทำเงินที่ง่ายๆ ซื้อถูก ขายแพง นั่งจิบกาแฟคีย์คำสั่งก็ทำกำไรได้แล้ว Continue reading “รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น”

NIM และ NPL

ธุรกิจธนาคารมีรายได้หลักสองทาง ทางแรกคือการปล่อยสินเชื่อ อีกทางคือการเก็บค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ

รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเกิดจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับที่ได้จากการปล่อยกู้ กับดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายตอบแทนผู้ฝากเงิน บางทีเราเรียกส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสองตัวนี้ว่า NIM เช่น ระดมเงินฝากมาให้ดอกเบี้ย 2% แล้วเอามาปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 6% ส่วนต่าง 4% ก็คือ รายได้ของธนาคาร ซึ่งต้องนำมาหักค่าโสหุ้ยในการดำเนินงานอีกที เหลือเป็นกำไร

ในความเป็นจริง NIM มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะธนาคารมีเงินฝากหลายรูปแบบ อัตราดอกเบี้ยของแต่ละแบบไม่เท่ากัน เงินฝากบัญชีกระแสรายวันแทบไม่มีต้นทุนทางการเงินของธนาคารเลย ในขณะที่ เงินฝากบัญชีฝากประจำมีต้นทุนการเงินสูงสำหรับธนาคาร ธนาคารขนาดใหญ่จึงมักมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนแหล่งเงิน เพราะคนนิยมเบิกบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์กับธนาคารใหญ่มากกว่า เพราะมีคนใช้เยอะ สาขาก็ทั่วถึงฝากถอนง่าย และมีบริการที่ครบมากกว่า แต่บัญชีสองประเภทนี้มีเงินเข้าออกทุกวัน ไม่นิ่ง ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้เยอะกว่า กลายเป็นต้นทุนอีกแบบหนึ่ง แต่ยังไงๆ ก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งที่ไม่เคลื่อนไหว ทำให้ธนาคารสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ยาวๆ กินดอกเบี้ยสูงได้ ได้กำไรส่วนต่างมหาศาลได้เลย ดังนั้นธนาคารที่มีบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์เยอะๆ ยังไงก็ได้เปรียบธนาคารอื่น

บริการสินเชื่อของธนาคารก็มีหลายแบบอีกเช่นกัน ลูกค้าของธนาคารแต่ละรายมีเครดิตไม่เท่ากัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เท่ากัน (MLR+ X) ลูกค้ารายใหญ่ต้องเอาใจกันหน่อย คิดดอกแพงกว่าคู่แข่งไม่ได้ เป็นต้น หลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันแต่ละรายก็มีความมั่นคงไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ลูกค้าคนเดียวกัน กู้ระยะยาว กู้โปรเจ็คไฟแนนซ์ หรือกู้ O/D ก็มีระยะเวลาเรียกคืนหนี้ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ควรจะเท่ากัน เพราะต้องสะท้อนความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้ว ค่า NIM จึงเกิดจากการเอาเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภทมาหาค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยที่คิดแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแล้วหาผลต่างออกมา

ธนาคารที่มี NIM สูงกว่าไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าเสมอไป เพราะ NIM อาจจะสูงเพราะธนาคารนั้นเน้นปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงสูง เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ว่าความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบ NIM จะต้องดู NPL ควบคู่ไปด้วย ถ้าธนาคารไหนมี NIM สูง แต่ว่า NPL ก็สูง ก็ไม่ได้แปลว่าดีกว่าธนาคารที่ NIM ต่ำกว่า แต่ NPL ต่ำกว่ามาก

NPL เป็นตัวเลขที่สำคัญมากของธุรกิจธนาคาร เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อแบบ Fractional หมายความว่า ตัวธนาคารเองอาจจะมีทุนแค่ 1 ส่วน แต่ไปกู้คนฝากเงินมา 9 ส่วน เพื่อมาปล่อยสินเชื่อ 10 ส่วน สมมติว่า สินเชื่อของธนาคารเน่าไป 5% ก็เท่ากับว่า ทุนของธนาคารเองหายไปแล้ว 50% เพราะธนาคารต้องชดใช้ส่วนที่เสียหายนี้ด้วยทุนของตัวเอง เนื่องจากธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินผู้ฝากเงินเต็มจำนวนเสมอไม่ว่าจะปล่อยกู้แล้วกำไรหรือว่าขาดทุนก็ตาม ซึ่งธนาคารมักจะแก้ปัญหา NPL ด้วยการชะลอการปล่อยกู้เพิ่มชั่วคราว รอให้กำไรสะสมเพิ่มขึ้น จนส่วนทุนกลับมาเท่าเดิมหรือครอบคลุม NPL หรือที่เรียกว่า การกันสำรองหนี้เสียนั่นเอง

แต่ NPL บางทีก็เชื่อถือยาก ธนาคารอาจบอกว่าตัวเองใช้เกณฑ์จัดชั้น NPL ที่เข้มงวดมาก แต่บางทีธนาคารเห็นลูกค้าสินเชื่อรายหนึ่งอาการร่อแร่ แต่ไม่อยากจัดชั้นเป็น NPL เพราะไม่อยากให้ NPL ของตัวเองเพิ่มขึ้น ก็อาจจะหลับหูหลับตา Roll-over หนี้ก้อนเดิมให้ลูกค้ารายนั้น เพื่อมิให้มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรจะปล่อยแล้ว ตรงนี้การจัดชั้น NPL อย่างเข้มงวดจะไม่ช่วยอะไรเลย เป็นต้น การจัดชั้น NPL จึงเป็นเรื่องที่มี conflict of interest อยู่ เป็นมุมมืดของการลงทุนในธุรกิจนี้

ในภาวะเศรษฐกิจปกติ เรานิยมดูว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ yoy ยิ่งสินเชื่อขยายตัวก็ยิ่งดี เพราะโอกาสทำกำไรย่อมมีเยอะขึ้น กำไรในอนาคตจะสูงขึ้น แต่เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง สิ่งที่นักลงทุนจะหันมาสนใจมากกว่าคือ NPL เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ย่ิงปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ยิ่งน่ากลัว ขอดูดีกว่ากว่า NPL จะปูดขึ้นมาหรือไม่ เพราะในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าที่เคยเป็นลูกค้าชั้นดีส่วนใหญ่จะเริ่มกลายเป็นลูกค้าชั้นแย่ ต้องดูว่าธนาคารจะบริหารจัดการลูกค้าที่ประสบภัยได้มากแค่ไหน ก่อนที่ธนาคารจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเอง          

อนาคตของ ADVANC

วิธีเข้าใจธุรกิจของ ADVANC ให้ง่ายขึ้น ลองคิดถึงตอนที่ยังไม่มีการประมูล 4G ก่อน บริษัทนี้มีรายรับปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจทุกอย่างรวมกันราว 8 หมื่นล้าน (ไม่นับค่าเสื่อม) ทำให้เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรเงินสดได้ปีละ 7 หมื่นล้านบาท Continue reading “อนาคตของ ADVANC”

AOT ตรวจสอบตรรกะการเลือกหุ้น

AOT เข้าตลาดเมื่อปี 2547 ราคาจอง 42 บาท ปัจจุบันราคาราว 400 บาท ถือได้ว่าเป็น SuperStock ตัวหนึ่ง (สำหรับช่วง 11 ปีที่ผ่านมา แต่ต่อไปอาจจะเป็นหรือไม่เป็นอีกก็ได้)

ถ้าจะลองถามตัวเองว่า ทำไมตอนนั้นเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้ไว้ ตรรกะในเวลานั้นที่ตัดสินใจไม่ซื้อของเราคืออะไร

การถามคำถามแบบนี้อาจทำให้เรามองเห็นจุดบอดในวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการเลือกหุ้น ซึ่งจะข่วยให้มุมมองของเราคมขึ้นในการเลือกหุ้นครั้งต่อไป

เมื่อสิบปีที่แล้ว AOT ไม่ใช่ธุรกิจที่ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ได้ว่า ธุรกิจนี้ดี เพราะว่าผูกขาด ดังนั้นความสามารถจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการเลือกหุ้นตัวนี้เลย ไม่ต้องเป็นเซียนก็รู้ว่าดี แต่แล้วทำไมเราจึงไม่ได้ซื้อไว้ ถ้าความสามารถไม่ใช่อุปสรรค์ ความยากมันอยู่ที่ไหน?

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้ จำได้ว่า ตอนนั้นผมไม่ชอบหุ้นตัวนี้เพราะมองว่ามีการเมืองในองค์กรเยอะ ผมไม่ชอบหุ้นที่การจัดการไม่ดี นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมพลาดหุ้นตัวนี้ไป เทียบกับคนที่ให้น้ำหนักเรื่องผู้บริหารน้อยกว่าตัวธุรกิจ พวกเขาก็อาจจะไม่พลาดหุ้นตัวนี้

ผมนึกถึงคำของ วอเรน บัฟเฟต ที่บอกว่า บริษัทที่ดีคือธุรกิจที่เอาคนโง่แค่ไหนมาบริหารก็ได้ เพราะพื้นฐานทางธุรกิจของมันดีมากๆ บางทีการตัดสินจากผู้บริหารมากเกินไป ก็ทำให้เกิดอคติได้ง่ายด้วย เพราะบ่อยครั้ง ความเห็นเรื่องผู้บริหารเป็นเพียงแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ซึ่งเกิดจากอคติส่วนตัวได้ง่าย ต่างจากการมองที่ตัวธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ Visible จากภายนอกเลย และมีตัวเลขยืนยันได้มากกว่าแค่ความรู้สึก ก็อาจเป็นไปได้ว่า นี่เป็นจุดอ่อนในการเลือกหุ้นอย่างหนึ่งของผม ถ้าหากผมเปลี่ยนไปให้น้ำหนักที่ตัวธุรกิจให้เยอะขึ้น ตรรกของผมอาจจะดึขึ้นก็ได้ (แค่ตั้งสมมติฐานนะครับ)

จำได้ว่าตอนเข้าตลาดใหม่ๆ AOT มีปัญหาเยอะมาก และเป็นประเด็นการเมืองด้วย เปลี่ยนผู้บริหารไปก็หลายคน ทำให้ผลประกอบการ ไม่ดีเหมือนที่คิดกัน ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน แถมมีบางช่วงที่ต่ำจองด้วย และมันก็ไม่ไปไหนอยู่นานหลายปีเลยทีเดียว การที่ราคาหุ้นไม่ไปไหนนานๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนี้ แต่ก็อาจจะถึอไว้ไม่ได้นาน เพราะราคาหุ้นไม่ไปไหนนานๆ จิตจะตก เพราะคนเรามักเอาราคาหุ้นมาตัดสินปัจจัยพื้นฐานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งที่จริงมันน่าจะกลับกัน อุปสรรคใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการพลาด superstock จึงอาจเป็นเรื่องการที่เราอดทนถือหุ้นไม่ได้นาน เพราะทนราคาที่ผันผวน หรือไม่ไปไหนนานๆ ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง บางทีเวลาหุ้นจะวิ่งมันก็วิ่งรวดเดียวเลย การที่มันไม่ไปไหนก่อนหน้านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกว่ามันจะไม่วิ่ง แต่เราไปเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันเองโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นความยากอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนเลยทีเดียว

แล้วคุณล่ะ คุณพลาด (หรือไม่พลาด) superstock ตัวนี้ไปเพราะว่าอะไร เล่าสู่กันฟังบ้าง 

วิธีรวยเร็วๆ ของเจ้าของ บจ.

ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. หรือก็คือเจ้าของบริษัท อาจสร้าง Wealth ให้กับตนเองได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และวิธีการทางการเงินล้วนๆ

ถ้าผู้ถือหุ้นหลักต้องการแบบนั้น พวกเขาอาจขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับกลุ่มทุนจากภายนอก ซึ่งอาจเป็นในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดก็ได้ เพื่อจูงใจกลุ่มทุนเหล่านั้น เมื่อเพิ่มทุนได้แล้ว ก็ทำให้ Balance Sheet ของบริษัทดูแข็งแรงขึ้น (D/E ต่ำ) ทำให้สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มได้ ยิ่งหากกลุ่มทุนเหล่านั้นมีชื่อเสียงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้บริษัทดูน่าเชื่อถือ

เมื่อกู้เงินมาได้ ก็ไม่ต้องเอามาขยายธุรกิจเดิมหรือสร้างธุรกิจใหม่ เพราะทำแบบนั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะผลิดอกออกผล พวกเขาสามารถทำให้ผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ทันทีด้วยการไปซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ เพื่อที่จะได้เอางบการเงินมารวมกัน กำไรทางบัญชีก็เพิ่มขึ้นได้ทันที

เมื่อกำไรทางบัญชีสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดที่จะสูงขึ้นตามการคาดการณ์ของงบการเงินใหม่ ตลอดจนการที่ตลาดอาจจะคาดการณ์ต่อไปได้อีกว่า บริษัทอาจจะซื้อกิจการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปรอเหตุการณ์เหล่านั้น เมื่อนักวิเคราะห์ปรับประมาณการราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น นักลงทุนรายย่อยก็สนใจอยากเข้ามาซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป ตอนนี้ก็ถือว่าเจ้าของกิจการได้ตอบแทนกลุ่มทุนที่ช่วยเข้ามาเพิ่มทุนแล้ว เพราะว่ามูลค่าหุ้นที่กลุ่มทุนซื้อไว้ในราคาลด ซึ่งก็มีกำไรอยู่แล้ว ยังเพิ่มขึ้นอีกเพราะราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้กลุ่มทุนจะทำอย่างไรก็หุ้นที่ถืออยู่จะขายหรือถือต่อก็เป็นเรื่องของกลุ่มทุนแล้ว เจ้าของกิจการไม่เกี่ยว เพราะได้ตอบแทนในรูปของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปให้แล้ว ซื้อเจ้าของบริษัทเองก็ไม่ได้ลงทุนอะไรจากกระเป๋าของตัวเองในการปรับราคาหุ้นให้สูงขึ้นครั้งนี้ด้วย

เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมาก นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อต่างก็มีความสุขกันทั่วหน้า ดูแล้วก็ win-win หุ้นขึ้นใครๆ ก็ชอบทั้งนั้น ยิ่งถ้าเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นตัวนั้นขึ้นเลย เรายังรู้สึก bullish กับหุ้นตัวนั้นมากๆ ตอนนี้หุ้นของบริษัทอาจกลายเป็น Darling ของตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เป็นที่อิจฉาของนักลงทุนคนอื่นๆ ที่ตกรถไฟ ไม่ได้ซื้อไว้ หุ้นติด most gainer ทุกวัน นักวิเคราะห์ที่เชียร์ก็ได้หน้า ชื่นมื่นกันทั่วหน้า เวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำการเพิ่มทุนอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่สูงมากแล้ว (เพราะราคาหุ้นเพิ่มทุนต้อง benchmark กับราคาตลาด) นักลงทุนยังกำลังมีแต่ความรู้สึกที่ดีกับหุ้น ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอย่างแน่นอน

เมื่อเพิ่มทุนสำเร็จในราคาพรีเมื่ยม ได้เงินเข้ามาในบริษัท ก็ช่วยให้ฐานทุนแข็งแรงขึ้น D/E ที่เคยสูงก็กลับลดลงมาใหม่ ทำให้บริษัทเหลือวงเงินที่จะขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มได้อีก ก็สามารถกู้เงินเพิ่มจากธนาคารเพื่อเอามาซื้อกิจการ เพื่อรวมงบ แล้วก็ทำอะไรต่อมิอะไรตามวงจรเดิมไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องอธิบายต่อ เพราะว่ามันก็จะซ้ำๆ วนๆ ไปเรื่อยๆได้ พร้อมกับผลประกอบการและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นไปอีกทุกรอบที่ทำ

นี่เท่ากับว่าราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้น สามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดกิจการหรือการจ้างงานอะไรใหม่ๆ ใน real sector เลย เป็นแค่สิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งหมด เอางบมารวมกันไปกันมาเท่านั้น แต่ถ้าหากจะถามว่า แล้วบริษัทที่ทำแบบนี้ทำอะไรผิดหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่ผิด ดูแล้วก็ไม่ได้ทำผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ข้อไหนเลย ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ผิด ผิดจริยธรรมหรือไม่ ก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะไม่ได้โกหกใดๆ ทั้งสิ้น การเข้าซื้อกิจการทุกอย่าง ก็มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ได้ปิดบังใดๆ การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปก็เป็นวิจารณญาณของนักลงทุนในตลาดหุ้นเองที่เข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นเพราะคิดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น เจ้าของก็ไม่ได้เข้าไปทำราคาแต่อย่างใด และไม่ได้เพิ่มแต่ราคาหุ้น เพราะผลประกอบการก็เพิ่มขึ้นด้วยจริงๆ  แล้วจะบอกว่าผิดจริยธรรมได้อย่างไร ดูยังไงก็ไม่ผิด

ถามว่าบริษัทที่ทำแบบนี้เพื่อเพิ่มราคาหุ้น นักลงทุนชอบหรือไม่ชอบ นักลงทุนหลายคนปากอาจจะบอกว่า ไม่ชอบ ผิดจริยธรรมบ้าง อะไรบ้าง (ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าผิดจริยธรรมเรื่องอะไร) แต่เอาเข้าจริงๆ นักลงทุนก็อยากซื้อหุ้นเหล่านี้มากกว่าหุ้นที่ทำมาหากินแบบเดิมๆ ราคาหุ้นไม่ไปไหน หุ้นพวกนี้ถึงนักลงทุนจะไม่ได้เป็นคนแรกๆ ที่รู้ และมักต้องซื้อหุ้นในราคาพรีเมี่ยมเสมอ แต่ซื้อแล้วก็ขึ้นเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเห็นสีแดงให้เจ็บใจ มีแต่สีเขียว ทำไมคนเราจะไม่ชอบ สุดท้ายแล้วยังไงๆ หุ้นที่ทำแบบนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของตลาดอยู่ดี สรุปแล้วไม่มีใครที่ไม่ happy

แต่บริษัทที่ทำแบบนี้บ่อยครั้งก็จะไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เนื่องจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้ได้ด้วยการควบรวมกิจการนั้น ต้องอาศัยภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยด้วย ถ้า sentiment ตลาดดี แพงแค่ไหนก็วิ่งขึ้น ยิ่งแพง ยิ่งวิ่ง แต่สัจจธรรมอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นก็คือ ตลาดหุ้นไม่สามารถขึ้นได้ตลอดไป หรือเป็นสีเขียวทุกวัน ดังนั้น หุ้นที่ทำแบบนี้ก็มักจะสะดุดเวลาที่ตลาดซึม หรือมี big crash ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจะเจ็บหนักที่สุด เพราะว่าเป็นคนหลังๆ ที่ซื้อทำให้ต้องซื้อแพงกว่าคนอื่น ถ้าตลาดลงลึกมากๆ หรือซึมยาวมากๆ นักลงทุนที่ขาดทุนก็จะเกิดอาการซึมเศร้า บางทีก็จะออกมาด่า มาแฉ  เจ้าของบริษัท ตามหน้าเว็บต่างๆ เพื่อระบายอารมณ์ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่างๆ จะค่อยๆ สร้างขึ้นมาอธิบายเป็นฉากๆ แต่ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ จริงๆ เจ้าของบริษัทผิดอะไรหรือไม่ พวกเขาเอาปืนจ่อให้นักลงทุนซื้อหุ้นของเขาหรือเปล่า ก็เปล่า พวกเขาปกปิดข้อมูลอะไรหรือเปล่า ก็เปล่า ก็เพราะนักลงทุนเองมิใช่หรือ ที่ยินดีเข้ามาซื้อหุ้นประเภทนี้มากกว่าหุ้นประเภทอื่น เพราะมันวิ่งมากกว่า และก็รับรู้อยู่ตลอดว่าบริษัทสร้างสตอรี่อะไรออกมาบ้าง ซึ่งถ้าได้กำไรไปก็คงไม่ได้เอามาแบ่งเจ้าของเพื่อตอบแทนใดๆ แต่พอเวลาวิธีนี้ไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็เริ่มจะมาโทษเจ้าของ 

วงการหุ้นมันก็เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย และมันก็คงเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะตลาดหุ้นเป็นเรื่องของเงิน และขึ้นชื่อว่าเงินไม่ก็เคยเข้าใครออกใคร ใครๆ ก็ย่อมอยากได้เงินทั้งนั้น เพียงแต่กระบวนการอาจเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย เมื่อมีคนคิดวิธีการทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นและดูดีขึ้นเรื่อยๆ ออกได้ เพราะวิธีแบบเดิม เริ่มไม่ได้รับความนิยม เมื่อมันโดนใช้ซ้ำซากมากเกินไป จนเรียกแขกไม่ได้แล้ว ผมว่า Money Game สมัยนี้มันถูกพัฒนามาจนแทบจะไม่จะเป็นต้องทำอะไรที่ผิดกฎหมายแล้ว และตราบใดที่มนุษย์เรายังอยากรวยๆ เร็วๆ มากกว่ารวยช้าๆ (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป) Money Game ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ยังดึงดูดใจผู้คนได้อยู่เสมอ

ข้อมูลที่ไม่อยู่ในงบการเงิน

ได้ฟัง Oppday ของ ICHI ไตรมาสล่าสุด มีคนถามคุณตันว่า “ช่วงนี้ชาเขียวไม่ดีเลย มีความคิดจะเพิ่มธุรกิจร้านอาหารบ้างมั้ย”

คุณตันตอบว่า “ไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ตัดสินใจมาตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัทแล้วว่าจะทำแต่เครื่องดื่ม เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ Labor intensive มาก การทำยอดขายให้ได้หนึ่งพันล้านบาท ถ้าเป็นชาเชียวใช้คนแค่หยิบมือควบคุมเครื่องจักรที่ทำงานอัตโนมัติ แต่ธุรกิจอาหารไม่ใช่ ยอดขายหนึ่งพันล้านต้องใช้คนงานเป็นร้อยๆ คน”

ประเด็นที่ผมสนใจคงไม่ได้อยู่ที่ชาเขียวกับร้านอาหารธุรกิจไหนดีกว่ากันแน่ แต่สิ่งที่ทำให้มองเห็นได้คือ เรื่องการมองธุรกิจยังมีอะไรหลายอย่างที่บอกไม่ได้ด้วยการวิเคราะห์แค่งบการเงิน งบการเงินอาจจะบอกว่าบริษัทนี้รายได้เท่าไร กำไรเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่า ที่สามารถทำรายได้ได้เท่านั้นเท่านี้ทั้งที่ใช้สินทรัพย์เท่านั้นเท่านั้น ต่างกับอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำรายได้ได้เท่ากันแต่ใช้สินทรัพย์ต่างกันนั้น  เพราะว่าอะไร

เรื่องนี้ทำให้นึกไปถึงธุรกิจอย่าง Beauty ซึ่งมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมมากใช้ช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าหากจะให้ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีก่อน แล้วให้ผมทำนายว่า Beauty จะเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีหรือไม่ในอีกห้าปีข้างหน้านั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะหาคำตอบว่า Beauty กับ Kamart ตัวไหนมีอนาคตมากกว่ากัน) บอกได้เลยว่า ผมแยกไม่ออก บอกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างที่ไม่อยู่ในงบการเงิน ไม่รู้ว่าสินค้าของเขาดีแค่ไหน เพราะเราไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของเขา และบางทีความรู้เหล่านั้น ก็สำคัญมากในการมอง เรียกได้ว่าเป็น key success factor ของธุรกิจเลยด้วยซ้ำ     

ลองคาดการณ์การเพิ่มทุนของ BJC

หลังจากเฮเรื่องซื้อบิ๊กซีกันไปแล้ว ก็ได้เวลาผู้ถือหุ้นของ BJC มานั่งวิตกว่า “แล้วจะต้องเพิ่มทุนเท่าไรหว่า” การซื้อกิจการที่ใหญ่กว่าตัวเองมากๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป ถ้าหากทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลงมากๆ ก็อาจส่งผลลบแทนที่จะเป็นบวกได้

เรารู้ว่าบิ๊กซีจะต้องมาอยู่ใต้ร่มของ BJC เพราะ BJC เป็นเรือธงด้านอุปโภคบริโภคของธุรกิจในเครือเสี่ยเจริญ ซึ่งเสี่ยเจริญได้ใช้เงินซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นหลักของบิ๊กซีมาแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และเตรียมเงินไว้สำหรับตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก (ในรูปของวงเงินสินเชื่อธนาคาร) ซื้อเงินจำนวนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะมีมูลค่าเท่าไร เพราะไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเอามาขายมากน้อยแค่ไหน แค่รู้แน่ๆ ว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่ขาย ตรงนี้จึงเป็นตัวแปรที่ยังไม่นิ่ง แต่เพื่อให้เราสามารถคิดต่อไปได้ สมมติว่า ไม่มีใครมาขายเลยก่อนก็แล้วกัน ก็เท่ากับว่า BJC ต้องมีหนี้เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท (แต่ถ้าเป็นกรณีเยอะสุด ทุกคนมาขายหมด ต้องมีหนี้เพิ่ม 2 แสนล้านบาท) Continue reading “ลองคาดการณ์การเพิ่มทุนของ BJC”

ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกระดับทศวรรษ

ไฟล์เสียงนี้เล่าถึงภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกระดับทศวรรษ ว่ามีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกับในอดีตอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจกระแสทุนของโลกได้ดียิ่งขึ้น 

 

https://youtu.be/W8ec0pzrKMU