การบริหารพอร์ตตามทฤษฏีการเงินมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกระจายความเสี่ยง (diversification) แต่มันไม่เคยใช้ได้ผล เพราะเราไม่มีทางทราบ forward-looking betas ของหุ้นได้ มาลองดูวิธีการบริหารพอร์ตอีกแบบหนึ่งที่เลียนแบบวิธีที่เซียนพนันใช้ในการบริหารเงินหน้าตักของพวกเขากันดีกว่า วิธีนี้ไม่ได้มีจุดหมายเพื่อกระจายความเสี่ยงแต่มีจุดหมายเพื่อการใช้เม็ดเงินที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เราได้รับโอกาสสูงสุดที่จะ “รวย” มากที่สุด
ที่จริงวิธีนี้ก็เป็นหลักสามัญสำนึกธรรมดาๆ สมมติว่าผมทอดลูกเต๋า 1 ครั้ง แล้วให้คุณทายว่าจะออกอะไร ถ้าคุณทายถูกคุณจะได้เงินรางวัล 2 เท่าของเงินเดิมพัน คุณมีชิพอยู่ 6 เม็ด ลองคิดดูว่าคุณจะเดิมพันยังไงถึงจะใช้ประโยชน์จากชิพทั้งหมดที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ก็ต้องอย่างนี้ใช่มั้ย
เนื่องจากทุกเลขมีทั้งโอกาสและขนาดของเงินรางวัลเท่ากัน ไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่าแทง “กั๊ก” ให้หมดคือแทงทุกหมายเลขอย่างละเท่าๆ กัน
เอาใหม่ สมมติว่าคราวนี้เลข 1, 2, 3, 4, 6 จ่าย 2 เท่า แต่เลข 5 จ่าย 100 เท่า อย่างนี้คุณก็อยากจะเจียดเงินส่วนใหญ่ของคุณแทงเลข 5 ให้มากเป็นพิเศษเพราะแม้ว่าโอกาสที่ลูกเต๋าจะออก 5 นั้นเท่ากับเลขตัวอื่นแต่ถ้าลูกเต๋าเกิดออกเลข 5 ขึ้นมาจริงๆ คุณจะรวยไม่รู้เรื่อง การบริหารเม็ดเงินจึงเป็นการพยายามให้เงินของเราอยู่ในตำแหน่งที่มี โอกาส และ/หรือ ขนาดของเงินรางวัล มากๆ (ในตัวอย่าง เลข 5 มีขนาดเงินรางวัลมาก แต่มีโอกาสถูกรางวัลเท่ากัน ถ้ามีเลขตัวใดมีขนาดเงินรางวัลเท่ากันแต่มีโอกาสถูกรางวัลสูงกว่าเลขตัวอื่น ก็ควรวางเงินส่วนใหญ่ไว้ที่เลขนั้นเช่นกัน)
ว่ากันว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่เลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้ง แต่เป็นคนที่ใช้เงินส่วนใหญ่ของพอร์ตไปกับหุ้นตัวที่มั่นใจมากๆ ทำให้พอร์ตโดยรวมได้ผลตอบแทนดีแม้ว่าจะไม่ได้เลือกหุ้นถูกทุกตัว จงใช้หลักเดียวกันนี้ในการบริหารพอร์ตหุ้นของคุณเพื่อ maximize โอกาสที่จะ “รวย” เริ่มต้นจากการมีเงินสดอยู่ 100% จงถามตัวเองดูว่าในบรรดาหุ้นทุกตัวที่คุณติดตามอยู่ตอนนี้มีหุ้นตัวไหนบ้างที่มี “upside” สมมติว่าคุณเจอหุ้นสามตัวคือ A, B, C ที่มี upside เท่ากันคือ 50% ทั้งสามตัว แบบนี้คุณก็ควรซื้อ A, B และ C ด้วยเม็ดเงินจำนวนเท่ากันหุ้นละ 33% ของพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ถ้าคุณเจอว่าหุ้น A, B มี upside 10% แต่หุ้น C มี upside 200% แบบนี้คุณก็อยากจะซื้อ C ตัวเดียว 100% มากกว่าที่จะซื้อทั้งสามตัวเท่ากันเพราะการกระจายความเสี่ยงในกรณีนี้ไม่ค่อยคุ้มกับโอกาสที่จะใช้เม็ดเงินส่วนใหญ่ไปกับการแทง C พูดง่ายๆ ก็คือจงพยายาม allocate เงินไปตาม upside ของหุ้นแต่ละตัว (ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของ upside แต่ละตัวประกอบด้วย) เพื่อให้พอร์ตทั้งพอร์ตมีโอกาสที่จะวิ่งได้ไกลที่สุด การซื้อหุ้นทุกตัวในสัดส่วนที่เท่ากันเสมออย่างที่นิยมทำกันโดยไม่สนใจว่าขนาดของ upside ของหุ้นแต่ละตัวว่าต่างกันแค่ไหนยังเป็นการใช้เม็ดเงินในพอร์ตที่ไม่คุ้มค่าอยู่
วิธีบริหารพอร์ตแบบนี้อุปมาเหมือนมีรถไฟหลายๆ ขบวนจอดอยู่ที่ชานชลา เราไม่รู้ว่ารถไฟขบวนไหนจะวิ่งได้บ้าง แต่เรารู้ว่ามีบางคันที่มีโอกาสวิ่งมากกว่าบางคัน จงใช้เงินส่วนใหญ่ในกระเป๋าซื้อตั๋วรถไฟคันที่มีโอกาสวิ่งมากๆ และใช้เงินส่วนน้อยซื้อตั๋วรถไฟคันที่มีโอกาสวิ่งน้อยไว้บ้าง แทนที่จะใช้เงินซื้อตั๋วรถไฟทุกคันเท่ากันหมด คิดเสียว่าเม็ดเงินในพอร์ตของคุณมีไว้ตีตั๋วรถไฟ การซื้อหุ้นที่มี upside สูงๆ ทิ้งไว้เฉยๆ ในพอร์ตแต่มันไม่วิ่งสักที ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังไม่ได้อะไรเลยตอบแทนจากเงินที่คุณลงทุนไป สิ่งที่คุณได้รับอยู่ตลอดเวลาที่คุณถือมันอยู่ก็คือ “โอกาส” ที่มันจะวิ่งเข้าสักวันหนึ่ง
หลังจากที่คุณลงทุนไปได้พักหนึ่งแล้ว หุ้นที่ถืออยู่แต่ละตัวจะเริ่มมีราคาเปลี่ยนไปทำให้ upside ของมันเปลี่ยนไปด้วย ในขณะเดียวกัน คุณก็อาจพบหุ้นตัวใหม่ที่คุณไม่เคยถือมาก่อนที่มี upside ที่น่าสนใจเหมือนกัน ตามหลักแล้วคุณควรเปลี่ยนน้ำหนักหุ้นในพอร์ตของคุณตลอดเวลาเพื่อ maximize upside แต่ในความเป็นจริงการทำอย่างนั้นจะทำให้คุณตายเพราะค่าคอมมิชชั้น การปรับพอร์ตจึงควรทำให้น้อยที่สุดเพื่อ minimize ค่าคอมมิชชั่น อย่างน้อยควรรอให้ได้กำไรจากหุ้นแต่ละตัวในระดับที่มากกว่าค่าคอมมิชชั่นที่เสียไปก่อนที่จะเปลี่ยนตัว แต่ทางที่ดีถ้าหุ้นยังเหลือ upside อยู่ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันดีกว่า เอาไว้ให้เจอหุ้นตัวใหม่ที่มี upside สูงมากกว่าเดิมมากๆ จริงๆ คงพิจารณาเปลี่ยนตัว จงถือคติว่าถ้าไม่เจอทีเด็ดจริงๆ การอยู่เฉยๆ ไว้ก่อนเป็นการตัดสินใจที่ไม่เสียหายเสมอ
(ปล.: สัดส่วนที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตเป็นไปตามสูตรของเคลลี่ (รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “หลักการพนัน”) คือ กำไรคาดหวัง/อัตราต่อรอง ดังนั้นถ้าเอาแบบถูกต้องจริงๆ คุณต้องคำนึงถึงทั้งขนาดของ upside/downside ตลอดจนความเป็นไปได้ของ upside/downside ไม่ใช่คำนึงแค่ขนาดของ upside อย่างเดียว ที่อธิบายไปข้างต้นเป็นการ oversimplified นิดหน่อย )
อุ๊ป คราวนี้โดนจังๆ
ผมถือหุ้นทุกตัว % เท่ากันหมดเลยครับ แหะๆๆ เอาไว้หลังประกาศงบออกงวดนี้ คงต้องปรับสัดส่วนซะแล้ว
ผมถือแค่สองตัวเอง และมันคงจะวิ่งในอีกหลายปีข้างหน้าครับ ทำใจครับ ช่วงนี้ก็หาอย่างอื่นทำเล่น ๆ แก้เซ็งไปก่อนก็แล้วกัน
ตอนนี้ถือหุ้นเท่ากันหมดเลยครับ แบบว่ายังไม่แน่นเรื่องหา upside เอาไว้แน่นพอแล้วจะทำตามวิธีนี้แน่ๆครับ 🙂
ผมเล่นทั้งตลาดหุ้น ตลาด tfex ตลาด afet
ตลาด afet มี leverage สูงกว่า ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็คงจะเป็นเลขห้า
แต่ในลูกเต๋า ดังตัวอย่างดูเหมือนว่า "มีแต่ได้" ไม่มีเสียเลย
ความน่าจะเป็นที่จะทอดออกเลข 5 ก็มีเท่ากับความน่าจะัเป็นที่จะทอดออกเลข 1 2 3 4 หรือ 6
แทงยังไงก็ไม่มีเสีย ไม่ได้ 2 เท่า ก็ได้ 5 เท่า ถ้าแทงหมดทุกเลข
แต่ในตลาดเก็งกำไร ไม่ยก afet มาดีกว่า
เงินเราไปจมอยู่แต่ใน tfex ตรงนี้เราจะจัดการกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างไรล่ะครับ
เหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างเช่น เหตุการณ์ 19 กันยา เหตุการณ์หม่อมอุ๋ย effect
ไม่แน่ มั่นใจว่าหุ้นขึ้นชัวร์ มั่นใจมาก มั่นใจว่า upside มีสูง long tfex ไว้ซะเยอะ
ถ้าพรุ่งนี้มีเครื่องบินบินถล่มตึกไทยคู่ฟ้าล่ะ แม้ความน่าจะเป็นมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี
มาถึงตรงนี้ที่จะถามก็คือถ้าลงเงินไปกับตัวที่มั่นใจมากๆๆ โอกาสที่จะเสียก็มีมากเช่นกัน
ตรงนี้จะจัดการความเสี่ยงตรงนี้อย่างไร
ช่างคิดดี ที่จริงมีเสียเหมือนกัน เสียชิพที่วางลงไปไงครับ
เผอิญว่ากรณีของการพนัน downside มีขนาดเท่ากันหมด แต่ถ้าเป็นหุ้นจะปวดหัวกว่าเพราะ upside ไม่เท่ากัน downside ก็ไม่เท่ากัน จริงๆ แล้วต้องมองทั้ง upside และ downside ประกอบกัน
เช่น หุ้นราคา 10 บาท เราคิดว่ามีโอกาสวิ่งไป 20 บาทได้ แต่ก็มีโอกาสวิ่งไป 8 บาท ได้ด้วย จะเป็นหุ้นที่น่าจะให้น้ำหนักพอร์ตมากกว่าหุ้นที่ราคา 10 บาท แต่มีโอกาสวิ่งไป 20 บาท และมีโอกาสลงไปเหลือ 5 บาท
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องย้ำบ่อยๆ ก็คือ ต้องคิดถึงความชัวร์ของ upside/downside ด้วย หุ้น 10 บาทสองตัวที่อาจวิ่งได้ถึง 20 บาทเหมือนกัน ตัวแรกอาจชัวร์ 75% อีกตัวอาจชัวร์แค่ 50% อย่างนี้ตัวแรกก็น่าจะซื้อเยอะกว่า
เป็นศิลปะครับ กะๆ เอาก็ได้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย การลงทุนยังไงก็หนีไม่พ้นส่วนที่ต้องใช้ subjectivity
อืมมม เป็นศิลปะจริงๆ ด้วยแหละ ตรงนี้เป็นความงาม 🙂
ผมเป็นประเภท ใส่ไป 80% กับตัวที่คิดว่าใช่ เปนพวก selective buy
ส่วนที่เหลือ ก็เหลือติดพอร์ดเอาไว้นิดหน่อย แต่หากว่า พอร์ท โตกว่านี้ ผมคง ค่อยใช้วิธีการกระจายความเสี่ยง มากกว่านี้อีกหน่อยนึง
ไม่รู้จะมั่งคั่งกับเค้าได้หรือเปล่า โดยส่วนตัว ผม ไม่เชื่อ diversification ซะด้วยสิ
จำได้ว่าเคยไปสัมภาษณ์งาน ด้าน ผุ้ช่วยผู้จัดการลงทุน โดน มองกลับว่า เป็นพวก ไม่เชื่อทฤษฏี นี้ ดังนั้นคุณทำงานด้านนี้ไม่ได้หรอก
วิธีการของนักพนันไม่ได้มุ่งที่จะกระจายความเสี่ยงนะครับ ไม่รู้ว่าผมเขียนเคลียร์หรือเปล่า ตรงกันข้ามวิธีการของนักพนันมุ่งที่จะใช้เม็ดเงินในพอร์ตทุกบาทอย่างคุ้มค่าที่สุดในการให้เราได้รับโอกาสที่จะรวยให้มากที่สุด
การให้เราได้รับโอกาสที่จะรวยให้มากที่สุด คงจะเป็นการหา optimization ที่ต้องหาสมคุลทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนอยู่ดี ถ้าจำไม่ผิดหลักการของมาร์โควิทซ์ในการเงินก็สามารถใช้ในการจัดพอร์ทในลักษณะนี้ได้ ไม่แน่ใจ ใครยังแม่นหรือเรียนอยู่ เข้ามา comment
แต่ผมไม่เคยตั้งเป้าให้พอร์ทผมเติบโตสูงสุดในระยะเวลาสั้นๆ ผมเลยใช้วิธีตั้งรับ ถ้าไม่ขาดทุน ก็คือ ได้กำไร แล้วใช้ระยะเวลาเข้ามาช่วยให้พอร์ทโตขึ้นในระยะยาว
วิธีของมาร์โควิชมีจุดมุ่งหมายเพื่อ maximize expected return และ minimize risk ในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยที่ risk นั้นแทนด้วย variance ส่วนวิธีของเคลลี่นั้น maximize อัตราการเติบโตของ port size ในระยะยาวๆ ครับผม
ในแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ วิธีของเคลลี่พอร์ตจะผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ (variace สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป) แต่ขนาดของพอร์ตจะวิ่งไปได้ไกลที่สุดในระยะยาว
วิธีของมาร์โควิช
วิธีของเคลลี เป็นยังไง เอามาเขียนบอกกล่าวกันบ้างสิครับ ผมยังไม่มีความรู้
วิธีของมาร์โควิชก็คือ portfolio diversification ที่เรียนกันทั่วไปในวิชาการเงินครับ
ส่วนวิธีของเคลลี่ก็อยู่ในหนังสือ หลักการพนัน ของผมไงครับ
555 ผมมะได้จบการเงิน 😀 ส่วนหนังสือไว้เดี๋ยวไปซื้อมาอ่านนะฮับ
ขอบคุณคับ