ผลพลอยได้ของการมีนโยบายไม่ขายหุ้น

การที่เราตั้งใจว่า ถ้าซื้อหุ้นอะไรก็จะถือไปตลอด ไม่มีนโยบายขาย นอกจากจะทำให้เราคิดรอบคอบมากขึ้นก่อนซื้อแล้ว ยังมีประโยชน์สำคัญอีกข้อหนึ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึง

นั่นคือ มันช่วยทำให้เรามีโอกาสได้กำไรหุ้นแบบหลายเด้งด้วย เพราะการจะทำแบบนั้นได้นอกจากจะต้องเจอหุ้นหลายเด้งแล้ว คนที่เจอยังต้องกล้าถือไปเรื่อยๆ แม้ว่าราคาจะพุ่งขึ้นมาเป็นเท่าตัวด้วย เพราะถ้าเจอหุ้นตัวดังกล่าว แต่พอมันขึ้นมาแค่ 20-30% ก็อดใจไม่ไหว ขายทิ้ง แบบนี้ก็จะพลาดอยู่ดี

ซึ่งการที่หุ้นขึ้นไป 30% แล้ว เรายังไม่ขาย เป็นอะไรที่ทำใจได้ยากมาก ถ้าใครเล่นหุ้นมานานก็น่าจะเข้าใจความรู้สึกนี้ดี กลัวว่าหุ้นจะตกกลับลงไปใหม่ แล้วกำไรจะหายไปหมด จึงต้องรีบขาย สุดท้ายแล้ว มันก็ขึ้นต่อไปอีก 100% ขายหมูอีกตามเคย

คนที่จะอยู่จนกำไรเป็นเด้งๆ ได้ ถ้าไม่ใช่คนบ้า ก็ต้องมีความมั่นใจในหุ้นตัวนั้นมากเป็นพิเศษ ระดับที่เชื่อเป็นลัทธิ ว่าธุรกิจนั้นวิเศษเลอเลิศ​ ซึ่งบ่อยครั้งก็เหมือนคนบ้าจริงๆ นั่นแหละ บางคนบ้าแล้วก็ผิดหวังก็มี ไม่ใช่บ้าแล้วจะรวยได้ทุกคน แต่อีกวิธีหนึ่งที่เราจะอยู่รอดไม่ขายจนได้กำไรหลายเด้ง โดยที่ไม่ต้องคลั่งลัทธิ คือเรามีนโยบายซื้อหุ้นอะไรแล้วไม่คิดจะขาย

บางคนอาจแย้งว่า แต่การทำแบบนั้น นอกจากจะพาเราไปสู่กำไรหลายเด้ง ก็อาจพาเราไปสู่ขาดทุนหลายเด้งด้วยเช่นกัน เพราะไม่ขายสักที ราคาหุ้นก็ลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นการจะมีนโยบายไม่ขายหุ้นได้ จะต้องเป็นนักรอคอยที่จะซื้อด้วย คือซื้อหุ้นที่ถูกมากพอ ความถูกของราคาเข้าซื้อจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดโอกาสที่จะขาดทุนแบบนั้น และการกระจายหุ้นก็สำคัญเช่นกัน เพราะเลือกหุ้นแค่หนึ่งตัว โอกาสจะเจอหุ้นหลายเด้งคงมีน้อยมาก แต่ถ้าเลือกหลายๆ ตัว โอกาสที่จะเจอบ้างย่อมมีมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดี “ก่อน” ซื้อหุ้น ไม่ใช่หลังจากซื้อหุ้นไปแล้ว เมื่อซื้อหุ้นไปแล้ว ก็ควรปล่อยวาง ปล่อยให้ความดีที่เราทำก่อนซื้อแสดงผลลัพธ์ที่ดีออก ไม่ต้องไปกังวลหลังจากซื้อไปแล้ว เหมือนลูกธนูที่ยิงออกจากศรไปแล้ว ถ้าตอนเล็งทำได้ดี ธนูจะเข้าเป้าเอง ไม่ต้องกังวลตอนที่ธนูลอยอยู่บนท้องฟ้า เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

อุปสรรคการลงทุนมันลึกซึ้งกว่าที่คิด

มีพี่นักลงทุนคนหนึ่งเคยพูดตอนที่ตลาดหุ้นมันวิ่งๆ และทุกคนก็เฮโลกันเข้าไปว่า คอยดูเถอะ วันหนึ่งเวลาที่หุ้นตกมากๆ แล้วจะรู้ว่า หุ้นที่ทุกคนเคยบอกว่าพื้นฐานดีอย่างนั้นอย่างนี้ จะไม่มีใครเอาเลย ยิ่งถูกยิ่งไม่มีใครอยากได้ ทั้งที่มันเคยเป็นหุ้นไร้เทียมทานมาก่อน แล้วจะรู้ว่าพื้นฐานที่ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้เป็นแค่ภาพลวงตา ถ้าคนจะไม่เอาหุ้นสักอย่าง หุ้นอะไรก็ไม่เหลือ

ตอนแรกที่ผมได้ยินคำพูดแบบนั้น ผมก็เหมือนกับทุกคน คือรู้สึกว่า พี่เขามองโลกในแง่ร้ายจัง ทำไมไม่คิดบวก คนคิดบวกประสบความสำเร็จเสมอ ไลฟ์โคชสอนไว้ แต่พอได้อยู่ในตลาดมานานพอ ได้เห็นเหตุการณ์ที่ว่าแบบนั้น ซ้ำๆ กันหลายๆ รอบ ถึงได้เห็นว่า พี่เขาพูดด้วยประสบการณ์ที่เห็นตลาดหุ้นมายาวนานกว่าเรามากจริงๆ

บางทีคนที่ขยันหาหุ้นทุกวัน ติดต่อกันสี่ห้าปี และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่พอวันนั้นมาถึง ตลาดหุ้นพังทลาย กำไรที่หามาได้ทั้งหมด ก็หายไปในปีเดียว กลายเป็นขาดทุนเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่บางคนอาจจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย สี่ห้าปี แต่พอตลาดหุ้นพังทลายก็เข้ามาซื้อแค่ครั้งเดียว แล้วก็อยู่เฉยๆ ไปอีกสี่ห้าปี สรุปแล้วกลับกลายเป็นคนที่ทำกำไรได้อย่างแท้จริงทั้งที่ดูเหมือนแทบจะไม่ได้ออกแรกอะไรเลย

การลงทุนมันแปลกๆ แบบนี้แหละ ทุกอย่างมันดูขัดแย้งกับสัญชาตญาณของเราไปหมด และเราก็มองไม่เห็น ทำให้เหนื่อยฟรีไปเยอะเลย

ผมเคยเห็นบทความหนึ่งที่เขาวิเคราะห์ว่าดัชนี S&P500 ในรอบสิบปี มีช่วงเวลาที่ราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานในทางทฤษฎีอยู่เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น นอกนั้นแพงกว่าพื้นฐานตลอดเวลา ในยุคที่เงินล้นโลก ตลาดหุ้นฟองสบู่ขนาดนี้ การคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานก็เหมือนเป็นกับดักเหมือนกัน เพราะคนเรามักถูกสะกดจิตให้ต้องซื้อหุ้นหรือคิดว่ามีหุ้นพื้นฐานดีราคาถูกอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ในความเป็นจริง หุ้นอาจจะแพงตลอดเวลาอยู่ก็ได้ แต่เราก็รู้สึกแปลกๆ ที่จะบอกว่าหุ้นแพงทุกตัว ไม่มีหุ้นอะไรให้ซื้อ ติดต่อกันเป็นเวลาสี่ห้าปี สุดท้ายแล้วเราก็ซื้อหุ้นแพงไป โดยที่เข้าใจว่าเราซื้อหุ้นเพราะพื้นฐาน อะไรหลายอย่างในตลาดหุ้นทำให้เราผิดพลาด โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

นักวิเคราะห์ที่ต้องเขียนคอลัมน์แนะนำหุ้นทุกวัน ก็จะมีหุ้นน่าซื้อทุกตัว ทั้งที่ในชีวิตจริงบางช่วงเวลาอาจไม่มีหุ้นอะไรน่าซื้อเลย แต่การที่ต้องเขียนคอลัมน์ทุกวัน ถ้าจะบอกว่าไม่มีหุ้นอะไรน่าซื้อเลยติดต่อกันทุกวันสักสามเดือน บรรณาธิการคงมาไล่เขาออกแน่ๆ ความคิดของเราไม่สามารถเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง

นักลงทุนมักต้องมีเพื่อนที่เป็นนักลงทุนไว้คุยกันด้วย เล่นหุ้นคนเดียวเหงามาก แต่ถ้าหากคุยกันทีไรเราก็บอกว่าตอนนี้ไม่มีหุ้นอะไรน่าซื้อ บ่อยๆ เข้า บรรยากาศก็กร่อย สุดท้ายแล้วเราก็ต้องอยากซื้อหุ้นอะไรสักอย่าง เพื่อให้บทสนทนาในวงหุ้นมีรสชาติ เราติดกรอบพวกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

PE ตลาด 15x magic number?

มีแนวคิดหนึ่งบอกว่า ค่าเฉลี่ยพีอีระยะยาวของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ทั้งสิ้น ที่สำคัญ ไม่เกี่ยวกับว่าตลาดนั้นจะเติบโตมากแค่ไหนด้วย เป็นไปได้ว่า 15 เท่า หรือเทียบได้กับ earnings yield 6.7% เป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของตราสารทุน

ถ้าเราจะเอาแนวคิดนี้มาใช้เป็นตัวชี้วัดความถูกแพงของหุ้น เช่น ถ้าพีอีตลาดสูงกว่า 15 ก็คือ หุ้นโดยรวมยังแพงเกินไป นักลงทุนระยะยาวควรอยู่เฉยๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่พีอีต่ำกว่า 15 ถือว่าตลาดหุ้นน่าซื้อ นักลงทุนระยะยาวควรลงทุนให้เต็มพอร์ตไปเลย แบบนี้จะดีมั้ย

โดยส่วนตัว ผมชอบเกณฑ์อันนี้อยู่พอสมควรเลย ข้อดีมากๆ คือ แทนที่เราจะคอยมาเก็งว่าตลาดหุ้นจะลงไปต่ำสุดแค่ไหน เราใช้เกณฑ์นี้ไปเลย ถ้าพีอีตลาดต่ำกว่า 15 ก็ลงทุน ไม่ต้องไปรอ วิธีนี้ช่วยสร้างวินัยในการลงทุนได้ดีเลย

แต่วิธีนี้ก็มีข้อที่ควรพิจารณาหลายอย่าง ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าเมื่อตลาดหุ้นลงไปแตะ 15 เท่าแล้วลงทุน แล้วปีต่อมามันจะเพิ่มขึ้น แล้วเราก็ได้กำไรเลย แต่ตลาดอาจะแตะ 15 แล้วลงไปลึกกว่า แล้วก็ต่ำอยู่อย่างนั้น เช่น เหลือแค่ 10 เท่า อยู่นานหลายปี เช่น 4-5 ปี ก่อนที่จะทะลุ 15 เท่าอีกที นักลงทุนที่เห็นลงไปแตะ 15 ก็เข้าลงทุนเลย ก็ต้องทำใจว่า อาจจะต้องติดดอย เพราะตลาดหุ้นลงต่อไปเหลือแค่ 10 เท่า อีกหลายปี กว่าจะกลับตัวขึ้นไปใหม่ได้ แบบนี้เป็นต้น นักลงทุนเตรียมใจหรือยังที่จะเจอสภาพแบบนั้น

ปัญหาอีกอย่างคือคำว่า พีอี นั้นคือคำนวณมายังไง เช่น เป็นพีอีปัจจุบัน หรืออนาคต หรือปีหน้า หรือเฉลี่ยสิบสองเดือน บ่อยครั้งพีอีอาจลงไปแตะ 15 เท่า ชั่วคราว เพราะกำไรตลาดมีความผันผวนระยะสั้น เราจะถือว่านั้นคือพีอีของกำไรปกติได้หรือไม่ แบบนี้เป็นต้น ถึงเวลาจริงๆ นิยามที่ดิ้นได้ของพีอีอาจทำให้เราลังเลที่จะซื้อ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรายอมรับได้ว่าเราอาจจะซื้อจุดต่ำสุดไม่ได้ และยอมรับนิยามที่ดิ้นได้ของพีอี การยึดถือเกณฑ์ทำนองนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะรักษาวินัยการลงทุน หาเกณฑ์อะไรก็ดีที่มีความชัดเจนพอประมาณ แม้จะไปสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีกว่าไม่มีหลักยึดอะไรเลย ใช้แต่ความรู้สึก สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือความแน่วแน่ที่จะลงทุนไปในระยะยาว เพื่อให้ time value of money ได้แสดงศักยภาพของมันออกมา

อะไรที่ดูง่ายนั้นยากที่สุด

เคยเห็นคนเล่นหมากรุกตามสวนสาธารณะมั้ยครับ ที่เขาเล่นค้างไว้ในกระดาน แล้วให้คนมามุงดูว่าอยากเล่นต่อกับเขามั้ย ใครแพ้เสียเงิน ซึ่งถ้าใครเล่นหมากรุกเป็น ดูแล้วจะเหมือนกับหมากเล่นค้างไว้ในแบบที่เราได้เปรียบมากๆ ยังไงก็ชนะ แต่พอตกลงเล่นกับเขาแล้ว ก็พบว่ามันยากกว่าที่คิดมาก สุดท้ายแล้วแพ้เขาทุกคน

เคยไปงานวัดมั้ยครับ ในงานวัดจะเต็มไปด้วยเกมที่ดูง่ายๆ เช่น ใช้กระชอนกระดาษตักปลา หรือสาวน้อยตกน้ำ หรือยิงปืนใส่ตุ๊กตา แต่สุดท้ายแล้ว ร้านจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำทุกคืน

อาชีพหากินแบบนี้จะทำเงินไม่ได้เลย ถ้าหากเกมเหล่านี้ไม่ดูง่ายๆ ในสายตาของลูกค้า ยิ่งดูง่ายเท่าไร ก็ยิ่งทำเงินมากเท่านั้น เพราะความง่ายเป็นสิ่งที่ล่อให้คนยอมเล่นด้วย ถ้าดูธรรมดา หรือดูยาก คงไม่มีใครอยากเล่น เพราะจะเล่นเกมที่ดูเสียเปรียบเพื่อให้ตัวเองแพ้ทำไม เราเล่นเพราะเราคิดว่าเราจะชนะได้ง่ายๆ

ตลาดหุ้นก็เหมือนกัน ตลาดหุ้นเป็นเกมที่ดูง่ายๆ แค่กดซื้อ กดขาย ก็ทำเงินได้แล้ว ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้าง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ตาเหลือก หรือไปเป็นเจ้าของธุรกิจ ปวดหัวกับคนงาน เสี่ยงกับสต็อกสินค้า อะไรเลย

แต่ก็นั่นแหละครับ ในเกมที่ดูง่ายที่สุด มันคือความยากที่สุดด้วย ในเมื่อมันง่ายมากขนาดนั้น แค่กดซื้อขาย อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ มันย่อมดึงดูดคนจำนวนมหาศาลให้เข้ามา และพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาเงินคนอื่นในตลาดนี้ และนั่นแหละที่ทำให้ตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ไปขับแกร็บยังทำเงินได้ง่ายกว่า (เพราะมันเหนื่อยกว่า)

แต่เอาเถอะ ไหนๆ คุณก็ตกกระไดพลอยโจร หลงเข้ามาในตลาดหุ้น เพราะความง่ายที่มันล่อตาล่อใจแล้ว คุณจะยังตาบอดต่อไป ด้วยการคิดว่าตลาดหุ้นมันง่ายๆ แล้วก็ขาดทุนเหมือนคนส่วนใหญ่ ที่ต้องการแต่อะไรที่ง่ายๆ หรือว่าคุณจะปรับทัศนคติตัวเอง หันมาศึกษามันอย่างจริงจัง ทำให้เป็นเหมือนอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง ที่ก็ต้องพยายาม พยายาม พยายาม ให้มากกว่าคนทั่วไปถึงจะประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่น เพียงแต่สิ่งที่ต้องพยายามอาจจะต่างกัน เช่น ไม่ต้องเสียเหงื่อ แต่ต้องอ่านหนังสือหนัก ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา แต่ว่าต้องอดทนอยู่เฉยๆ ให้ได้ เป็นต้น

ภายในตลาดหุ้นเองก็มีหลากหลายอาชีพ บางวิธีดูง่าย บางวิธีดูยาก เช่น การเล่น DW หรือ ฟิวเจอร์นั้น ดูง่าย ดูรวยเร็ว ส่วนการลงทุนแนวพื้นฐานดูเหนื่อย ต้องอ่านหนังสือหาความรู้เยอะมาก ต้องมานั่งตามข่าวบริษัท แต่ในความเป็นจริง คนเล่นอนุพันธ์นั้นมีคนที่ประสบความสำเร็จอยู่น้อยมากๆ ทั้งที่มันเป็นวิธีที่ดูง่ายที่สุดในการทำเงินในตลาดหุ้น

อะไรที่ดูง่ายนั้นยากที่สุดเสมอ

คอนทราเรียนตัวจริง vs ตัวปลอม

ชอบพูดกันมากกว่า การลงทุนต้องเป็น contrarian ถึงจะสำเร็จ โลภเมื่อคนอื่นกลัว กลัวเมื่อคนอื่นโลภ ซื้อเมื่อคนอื่นขาย ขายเมื่อคนอื่นซื้อ

ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิด แต่ว่าการเป็น contrarian จริงๆ นั้น มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิด

ประการแรก ตลาดไม่ได้ผิดเสมอไป ถ้าหากตลาดผิดเสมอ การลงทุนให้รวยต้องเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ แค่ทำให้ตรงกันข้ามกับตลาด เราก็จะรวยแล้ว แต่ถ้าใครเล่นหุ้นมาสักระยะจะรู้ว่าการทำเงินในตลาดหุ้นมันไม่ได้ง่ายมากขนาดนั้น บางครั้งตลาดก็ถูก เราเองต่างหากที่ตกข่าว

ปัญหาอีกอย่างของการเป็น contrarian ก็คือ นักลงทุนมักลุกขึ้นมาเป็น contrarian พร้อมๆ กัน เช่น เวลาหุ้นเริ่มตกใหม่ๆ ทุกคนจะออกมาบอกว่า ยิ่งตกยิ่งซื้อ อยากเป็น contrarian พร้อมๆ กัน ซึ่งพอหุ้นตกต่อไปอีกเยอะๆ ตอนนี้ contrarian จะเริ่มหายไป วงแตก เริ่มกลัวกันหมด ซึ่งตอนนั้นหุ้นก็อาจจะน่าซื้อพอดี เพราะไม่เหลือใครที่อยากเป็น contrarian พอดี แต่ทุกคนดันจิตตก อยากขาย พอขายเสร็จหุ้นก็เด้ง เป็นต้น

การเป็น contrarian ในตลาดที่ทุกคนอยากเป็น contrarian จึงไม่ใช่การเป็น contrarian โดยนิยาม เพราะ contrarian ย่อมทำต่างจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงเวลาที่คนส่วนใหญ่อยากเป็น contrarian ด้วย

Sir John Templeton ได้ชื่อว่าเป็น contrarian ตัวพ่อ สำหรับเขาแล้ว การเป็น contrarian ธรรมดานั้นไม่เวิร์ก เพราะใครๆ ก็คิดแบบนั้น สำหรับตัวเขาต้องเป็น extrem contrarian เท่านั้น เขารอซื้อหุ้นที่ตกหนักมากจนไม่เหลือใครที่อยากเป็น contrarian อีกแล้วเท่านั้น ถึงจะเป็นวิธีที่ได้ผล

ราคาเข้าซื้อหุ้นที่เหมาะสม

สำหรับคนเล่นหุ้นทั่วๆ ไป อันที่จริง การซื้อหุ้นในมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมอาจไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์เลยด้วยซ้ำ เพราะคนเล่นหุ้นทั่วไป ต่อให้เป็นคนที่คิดว่าตัวเองลงทุนแนววีไอ หรือแนวปัจจัยพื้นฐานก็ตาม อาจถือหุ้นครั้งละไม่นานนัก เช่น 3 เดือน หนึ่งปี หรืออย่างมากก็สามปี เป็นต้น

ในช่วงเวลาที่สั้นขนาดนั้น ราคาหุ้นมักยังไม่ได้วิ่งตามผลกำไร แต่ขึ้นลงตามภาวะตลาดเสียมากกว่า เรียกได้ว่า ภาวะตลาดแทบจะกลบผลของปัจจัยพื้นฐานหุ้นไปเลย เราจึงแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่พยายามซื้อหุ้นในราคาไม่เกินพื้นฐาน เสียเวลาเปล่า การถือหุ้นไม่ยาวพอที่จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยพื้นฐาน ก็เหมือนใช้เครื่องมือไม่ตรงกับงาน บางทีการเป็นนักเก็งกำไรไปเลย กลับจะดีกว่า นักเก็งกำไรสนใจแค่มองให้ออกว่า หุ้นกำลังเป็นขาขึ้นหรือขาลง โดยไม่ต้องสนใจว่าถูกหรือแพง ถ้ายังเป็นขาขึ้นก็คือซื้อได้ ขาลงต้องขายทิ้ง กลับกลายเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลกับระยะเวลาลงทุนที่ไม่ยาวมากกว่าการมองปัจจัยพื้นฐาน

แต่ถ้าใครคิดจะเป็นนักลงทุนระยะยาวจริงๆ เช่น ซื้อหุ้นคิดจะถือตลอดไป ไม่มีแผนที่จะขายเลย (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) แบบนี้พื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก ราคาที่เข้าซื้อเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้ามันต่ำพอเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ต่อให้ระยะสั้นราคาจะผันผวนขนาดไหน สุดท้ายแล้ว หากถือต่อไปเรื่อยๆ ย่อมมีโอกาสได้กำไร เพราะการถือหุ้น ยิ่งนานเท่าไร ราคาหุ้นกับกำไรย่อมสอดคล้องกันมากเท่านั้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ การจะหาว่าราคาเข้าซื้อที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวเป็นเท่าไร ไม่ใช่เรื่องง่าย มีทฤษฎีมากมายที่ใช้วัดราคาหุ้นได้ แต่ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งทำให้ยิ่งสับสน อีกทั้งหุ้นยังเป็นสิ่งที่มีราคาขึ้นกับอนาคตเยอะ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของมันไม่แน่นอน แต่เป็น probability มากกว่า ความคิดที่เชื่อว่ามีสิ่งที่เรียกว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ที่สามารถบอกออกมาได้เป็น x บาทต่อหุ้น นั้นเป็นความคิดที่ผิด เหมือนในวิชาฟิสิกส์ที่บอกว่า โปรตอนที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนได้ บอกได้แค่ความน่าจะเป็น (ความไม่แน่นอนของโชดิงเจอร์) ยังไงอย่างนั้น การตีมูลค่าหุ้นเป็นเหมือนศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์

ไม่ใช่แค่นั้น มูลค่าที่แท้จริงยังเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของหุ้นตัวนั้น มุมมองดีร้ายต่างกัน ย่อมทำให้สมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตของหุ้นตัวนั้น เช่น อัตราการเติบโตในอนาคต ของแต่ละคน ต่างกันด้วย ซึ่งย่อมทำให้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของแต่ละคนไม่เท่ากัน เป็นเรื่องปัจเจกแท้ๆ ไม่มีมูลค่าหุ้นแท้จริงที่เป็นสากล

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องคำนวณหามูลค่าหุ้นอย่างละเอียด ใส่สูตรเอ็กเซลเป็นหน้าๆ ตรงกันข้าม เราแค่ต้องการวิธีประมาณมูลค่าที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ใช้งานได้ดีในทางปฏิบัติมากกว่า

สำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า ควรสนใจซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานแข็งแรงและมีอนาคตดีเท่านั้น ในกรณีนี้ P/E เป็นเครื่องมือดีพอที่จะใช้การได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะบริษัทที่พื้นฐานแข็งแรงควรจะมีกำไรไม่ผันผวนสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดูแล้วไม่ซับซ้อน P/E จึงเพียงพอแล้ว

การใช้ P/E ควรคิดจากกำไรปกติของบริษัทเท่านั้นและ P/E ที่เหมาะสมควรจะสูงต่ำตามโอกาสในการเติบโตที่เป็นไปได้ในอนาคตด้วย  การมีความคิดที่ว่า P/E ควรต่ำกว่า X เท่า โดยไม่สนใจว่าบริษัทนั้นจะเติบโตได้มากหรือน้อยในอนาคต เป็นการใช้พีอีที่หยาบเกินไป เหมือนไม่ให้คุณค่ากับความขยันขันแข็งของผู้บริหารที่จะสร้างการเติบโตในกับธุรกิจเลย ยังไงผมก็ชอบผู้บริหารที่กระตือรือร้นมากกว่าคนที่เช้าชามเย็นชาม (ความเห็นส่วนตัว)​

อย่างไรก็ตาม มีการพิสูจน์มาแล้วว่า P/E ที่เหมาะสมของทุกตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเติบโตมากหรือน้อย คือประมาณ 15 เท่า ดังนั้นถ้าหากเป็นบริษัทที่พื้นฐานแข็งแรง สมมติว่าเราคิดว่าบริษัทนี้คงไม่โตแล้ว (โตได้ไม่เกินเงินเฟ้อในอนาคต) P/E 15 เท่า ก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม แต่ถ้าหากคิดว่าน่าจะเติบโตได้มากกว่าเงินเฟ้อหรืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย P/E ที่เหมาะสมก็อาจสูงกว่า 15 เท่าได้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่มักเติบโตเกิน 20% ติดต่อกันนานๆ ได้ยากมากๆ  ปีเตอร์ลินซ์จึงบอกว่า พยายามอย่าซื้อหุ้นที่พีอีเกิน 20 เท่า เพราะถึงแม้อาจมีบริษัทที่โตได้มากขนาดนั้นจริงๆ แต่ความน่าจะเป็นที่เราจะเจอมีน้อย ได้ไม่คุ้มเสียที่จะ bet ด้วยราคาที่แพงขนาดนั้น

นอกจากนั้นควรคิดถึง  margin of safety ด้วย​ คือถ้าเป็นไปได้ก็ควรซื้อให้ต่ำกว่า fair value ยิ่งซื้อได้ต่ำกว่าเท่าไร ก็ยิ่งปลอดภัย และทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดเยอะขึ้น้ด้วย แต่ก็นั่นแหละ ยิ่งต่อราคามาก โอกาสที่จะไม่ได้ซื้อก็มีมาก ต้องเป็นนักรอคอยที่อดทนมากกว่าคนอื่น ซึ่งการรอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักลงทุน และยังต้องเสี่ยงกับการที่เงินอาจไม่ได้ทำงานให้เราเป็นเวลานานๆ อีกด้วย ควรมี margin of safety มากขนาดไหนขึ้นอยู่กับ risk preference ของแต่ละคน แต่ละคนอดทนรอได้ไม่เก่งเท่ากัน และถ้าต่อราคามากเกินไป ทั้งชีวิตอาจไม่ได้ซื้อเลยก็ได้ ก็ต้องไปชั่งใจกันเอาเอง บางคนขี้เกียจรอ เจอหุ้นชั้นดี พีอี 15 เท่า ก็ซื้อเลย แต่บางคนก็ยินดีที่จะเสี่ยงรอให้ราคาต่ำกว่านั้น เพื่อหวังให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นไปอีก ก็แล้วแต่คน

บางคนบ้าต่อราคาหุ้นมาก ก็เป็นกับดักอีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำให้พลาดเวลาที่จะได้ลงทุนนานๆ แล้ว บ่อยครั้งยังทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเห็นแก่ของถูก ซื้อหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี เพียงเพราะว่ามันราคาต่ำมาก เราควรตั้งคำถามด้วยเหมือนกันว่า ถ้าธุรกิจมันดีจริงๆ แล้วราคาหุ้นมันลงไปต่ำมากขนาดนั้นได้ยังไง วอเรน บัฟเฟตต์เองตอนหลังก็ยังออกมาบอกว่า เขาชอบหุ้นดีราคากลางๆ มากกว่าหุ้นถูกที่พื้นฐานไม่ดีเสียอีก

สรุปแล้ว สำหรับนักลงทุนระยะยาว ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของธุรกิจก่อน และซื้อหุ้นเหล่านั้นในราคาที่สมเหตุผล ไม่แพงเกินไป แทนที่จะมุ่งหาหุ้นที่ราคาถูกมากๆ (หุ้นพวกนั้นอาจจะดีในระยะสั้นก็ได้ แต่การถือไว้ยาวๆ กลับไม่ดี) ควรให้ความสำคัญกับการมีวินัยในการลงทุน ถือหุ้นดีราคาสมเหตุผลให้ได้นานที่สุด เพื่อให้มันแสดงศักยภาพของมันออกมา

 

อย่ากลัวที่จะลงทุนด้วยวิธีที่แปลก

คนเรามีแนวโน้มที่จะลงทุนเหมือนคนอื่น ซื้อหุ้นตามคนส่วนใหญ่ ซื้อหรือขายในช่วงเวลาเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ เหตุผลลึกๆ คือความสบายใจ ตลาดหุ้นไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีใครรู้อนาคต แต่ถ้าเวลาเราพลาดแล้วเราพลาดเหมือนคนอื่น มีคนพลาดเป็นเพื่อนเราเยอะๆ บางคนเป็นมหาเศรษฐี บางคนเป็นกูรูหุ้น เรายังไม่รู้สึกโทษตัวเองมากเท่ากับเวลาที่เราพลาดคนเดียว

แต่โดยสถิติ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นขาดทุน ดังนั้นการทำตามคนส่วนใหญ่ จึงเป็นสูตรสำเร็จที่จะพาเราไปสู่ความล้มเหลว

การลงทุนด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนชาวบ้าน สามารถพาเราไปสู่ความสำเร็จที่ exceptional และถ้านั่นคือสิ่งที่เราต้องการ ก็จงอย่ากลัวที่จะลงทุนด้วยวิธีที่แปลก เพราะนั่นต่างหากคือหนทางสู่เป้าหมาย

จริงอยู่ที่การลงทุนด้วยวิธีการแปลกๆ อาจพาเราไปสู่ด้านที่สุดโต่งได้ทั้งสองแบบ คือไม่ดีเลิศไปเลยก็แย่มากไปเลย แต่มันก็ไม่มีเหตุอะไรเหมือนกันที่จะลงทุนเองแล้วลงทุนตามคนส่วนใหญ่ เพราะนั้นทำให้เราได้อย่างมากก็คือเท่ากับตลาด ซึ่งเราสามารถทำแบบนั้นได้ง่ายๆ ด้วยการซื้อกองทุนดัชนี ไม่ต้องมาเหนื่อยหาหุ้น ทำการบ้านหามรุ่งหามค่ำ ด้วยการลงทุนแบบ active เลย ดังนั้น ถ้าจะเลือกหุ้นเอง ลงทุนเอง การมีเป้าหมายที่จะเอาชนะตลาดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และนั่นทำไม่ได้ด้วยการลงทุนเหมือนคนส่วนใหญ่

 

สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุน

เรามักคิดว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุน คือการเลือกหุ้นให้ถูกตัว ทำให้เรากลายเป็นแมงเม่าที่คอยวิ่งตามผู้วิเศษที่จะบอกหุ้นให้เราได้ แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุนคือ การอยู่เฉยๆ เพื่อปล่อยให้เงินได้มีเวลาทำงานให้เรามากพอที่จะแสดงศักยภาพที่แท้จริงของมันออกมา

เราอาจคิดว่าเราเป็นคนที่ตัดสินหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานมากกว่าราคา แต่เมื่อไรก็ตามที่เราได้ซื้อหุ้นนั้นไปแล้ว และได้เห็นราคาหุ้นของมันขึ้นๆ ลงๆ ความผันผวนของราคาจะเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับพื้นฐาน หุ้นที่เราเคยคิดว่าพื้นฐานดี ถ้าซื้อไปแล้ว ราคาลงทันที 5% เราก็อาจจะยังไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้ามันลงต่อไปอีก กลายเป็น 10% และกลายเป็น 20% ตอนนี้เราจะเริ่มสงสัยแล้วว่า พื้นฐานมันไม่ดีรึเปล่า ไม่ช้าไม่นาน ถ้าทุกอย่างยังไม่ดีขึ้น เราจะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพื้นฐานหุ้นตัวนั้นไปเลย เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่เวลานี้เราจะหาเหตุผลเชิงพื้นฐานมาสนับสนุนความเชื่อของเราว่าหุ้นไม่ดี และคิดไปเองว่า เรามองพื้นฐาน แต่ที่จริงต้นตอของความคิดทั้งหมดมาจากราคาหุ้นที่ร่วงลง

ในทางตรงกันข้ามก็เช่นกัน หุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นทุกวัน เราจะค่อยๆ เชื่อไปเองว่าหุ้นนั้นพื้นฐานดี สีเขียวทำให้เรามีความสุข ใครมาทำให้เรามีความสุข เราย่อมมองเขาในแง่ดี ที่หุ้นฟองสบู่ได้ก็เพราะแบบนี้ บางทีหุ้นไม่ได้ขึ้นเพื่อเหตุผลด้านพื้นฐานอะไรมากกว่าไปการที่ราคาของมันขึ้นทุกวัน ทุกคนย่อมอยากรู้สึกดี เลยวิ่งเข้าไปหาหุ้นสีเขียว แล้วก็ทำให้มันยิ่งเขียวขึ้นไปอีก กลายเป็นการป้อนกลับแบบบวก

สมัยก่อนผมเคยคิดว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องจิตวิทยาการลงทุน เราก็จะไม่เผลอตัว จิตใจของเราก็จะมีความมั่นคง หรือถ้าเราเป็นคนมีเหตุมีผล เราก็จะป้องกันตัวเองจากความโลภและความกลัวได้ แต่ยิ่งนานวัน ผมกลับพบว่ามันไม่จริง สมองของคนเราถูกออกแบบมาให้ลำเอียง มันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ อารมณ์เป็นใหญ่ ส่วนเหตุผลเป็นแค่สิ่งที่เราเลือกหยิบขึ้นมาทีหลัง เพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเรา ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าเป็นคนมีเหตุผล เป็นแค่การหลอกตัวเอง

เดี๋ยวนี้ผมเชื่อว่าคนเราไม่สามารถขจัดความลำเอียงในใจได้จริง วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การพยายามเป็นคนมีเหตุผล แต่คือการไม่อยู่ใกล้ๆ สิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้สมองส่วนอารมณ์ของเราทำงานขึ้นมา บ่อยครั้งการปิดหน้าจอเทรด หยุดอ่านข่าวหุ้นรายวัน หรือแม้แต่หนีไปพักร้อน เป็นมาตรการที่จำเป็นที่จะป้องกันตัวเองจากการใช้อารมณ์กับหุ้น

การรอคอยมากพอที่จะเข้าซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม และการกระจายพอร์ตที่ดีพอสมควร เป็นสิ่งที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับพอร์ตการลงทุนของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นซื้อหุ้นสักตัว ส่วนการพยายามทำผลตอบแทนด้วยการซื้อขายหุ้น เพื่อหลบความผันผวนของราคา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมักไม่ได้ผล เพราะเรามักทำแบบนั้นท่ามกลางความผันผวนของตลาดที่กระตุ้นให้เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่ดีอย่างที่คิด

ดังนั้นถ้าหากก่อนซื้อเราได้คิดรอบคอบแล้ว และพอร์ตของเราก็มีการกระจายที่พอสมควรอยู่แล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการอยู่เฉยๆ หลังจากนั้น อย่าเอาการขึ้นๆ ลงๆ ของราคาหุ้นในช่วงสั้น มาตัดสินการลงทุนของเรา อย่าเฝ้าหน้าจอทุกวัน อยากอ่านข่าวตลาดหุ้นรายวัน อ่านข่าวการตลาด หาความรู้ด้านการเงิน รวมทั้งเอาเวลาไปใช้ชีวิต เพื่อรอเวลาให้เงินทำงาน กลับมารีวิวพอร์ตแค่นานๆ ครั้ง เช่น ทุก 6 เดือน ก็พอ

หลายสิ่งในชีวิต ยิ่งพยายามมากๆ ทำมากๆ ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น การขยันอ่านหนังสือสอบ เป็นต้น และเราก็ถูกโปรแกรมมาให้ทำแบบนี้กับทุกเรื่องในชีวิต แต่โชคไม่ดีที่วิธีอาจใช้ไม่ได้กับการเงิน บางช่วงเวลา การอยู่เฉยๆ กลับทำให้เราขาดทุนน้อยลง แต่เรากลับทำไม่ได้ เพราะเราเคยชินให้ต้องทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา และนั่นก็คือเหตุผลหนึ่งที่การลงทุนของเรายังไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่เราเองนั้นกลับไม่เคยเฉลียวใจเลย

 

บันทึกไว้ในช่วงที่เกิดไวรัสโคโรน่า

ช่วงนี้ผมใช้วิธีเขียนบล็อกล่วงหน้าไว้เยอะๆ แล้วค่อยทยอยปล่อยออกมา ไม่นึกว่าจะต้องมาเขียนหัวข้อฉุกเฉิกในช่วงนี้ มันมาถึงเร็วกว่าที่คิด

โรคระบาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในความคิดของผมเลยก่อนหน้านี้ หรือถ้าจะเคยมีก็อาจเป็นช่วงหลังจากโรคซาร์สใหม่ๆ ซึ่งความกลัวแบบนั้นก็อาจจะอยู่กับเราไปสามสี่ปี แต่พอหลังจากนั้น ไม่เกิดขึ้น เราก็จะเลิกสนใจไปเอง คนเราก็เป็นแบบนี้นะครับ

หรือต่อให้ยังคงระวังเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มกันรึเปล่า อาจทำให้เรากล้าๆ กลัวๆ อยู่เป็นสิบปี คิดแล้วไม่คุ้ม ความเสี่ยงแบบนี้ยังมีอีกหลายอย่าง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด  ถ้าต้องระวังหมดทุกเรื่องก็คงไม่ไหว บางอันเกิดนิดเดียวแล้วจบ รีบขายหนีก็เสียโอกาส แต่บางอันก็อาจบานปลายระดับสูงสุด

สรุปแล้วมันคือความเสี่ยงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นต้องแบกรับไปนั่นแหละ ป้องกันล่วงหน้าได้ยาก

เมื่อเร็วๆ นี้ดูเหมือนจะเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวก เพราะจีนควบคุมไวรัสได้แล้ว และราคาน้ำมันก็ตกลงมาต่ำกว่ายุคซัพไพรม์แล้ว แต่ยุโรปก็เพิ่งเริ่มต้น และดูเหมือนชาวตะวันตกจะยังมองไม่เห็นความน่ากลัวของมัน แบบเดียวกับที่เราก็เป็นในช่วงแรกๆ กว่าข่าวร้ายสุดๆ ของเรื่องนี้จะออกมา คือ ไวรัสกระจายเต็มสหรัฐฯ ตลาดหุ้นก็อาจจะยังตกต่อได้อีกนาน ทรัมป์เองก็ต้องพยายามพยุงตลาดหุ้นไว้ให้ผ่านเลือกตั้งปลายปีนี้ไปก่อนค่อยพัง มิหน่ำซำ้ ถ้าหากไวรัสไปจุดชนวนให้เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งขยายตัวติดต่อกันมานานที่สุดในประวัติศาสตร์และรอแตกมาตั้งนานแล้ว เข้าสู่ภาวะถดถอยอีก ตลาดหุ้นทั่วโลกก็อาจจะต้องอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อีกนาน

ก็เหมือนกับทุกรอบที่ตลาดหุ้นตกหนัก ในช่วงแรกๆ ทุกคนก็จะรีบเข้าไปรับ เพราะเป็นการตกลงมาที่มากกว่าปกติที่เคยเห็นอยู่ทุกวัน คนเรามักรู้สึกว่าหุ้นถูกหรือแพงโดยเทียบกับราคาในช่วงใกล้ๆ เช่น เดือนที่แล้ว สองเดือนที่แล้ว ทุกคนเป็น contrarian เข้าไปรับ พอหุ้นเริ่มตกมากกว่านั้นอีก นักลงทุนก็รับไปจนเงินหมด แต่จะยังไม่ขายหุ้น เพราะว่าติดตัวแดงหมดทั้งพอร์ต จำใจขายได้ลำบาก ได้แต่นั่งดูหุ้นตกไปเรื่อยๆ แต่ทำอะไรไม่ได้เลย

พอหุ้นตกต่อไปอีก คราวนี้ราคาหุ้นที่ลงไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ บั่นทอนความเชื่อมั่นในตัวหุ้นที่ถืออยู่ ธุรกิจดีแล้วทำไมราคาลง เกิดภาวะจิตตก เริ่มเกลียดหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ อยากขายออกมาทั้งที่ขาดทุนมากกว่าเดิม คิดว่าควรตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต  แต่นี้จะมีคนไปถามกูรูหุ้นเยอะมากกว่า หุ้นหนูขาดทุนไปแล้ว 70% จะแก้ไขยังไงดี ความคิดของผู้คนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากยิ่งตกต้องยิ่งซื้อ กลายเป็นเชื่อว่าหุ้นจะลงไปเรื่อยๆ โบรกเกอร์ก็เริ่มปรับเป้าจากขึ้นมาเป็นลงต่อ ตอนนี้คนจะมีความคิดอีกแบบหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้น เข้าไปซอร์ตหุ้นดีมั้ย หรือไม่ก็ซื้อ DW หรือไม่ก็ TFEX หรือถ้าใครเงินหมดแล้ว แม้แต่เงินวางประกันยังไม่มี ก็อาจจะคิดเรื่อง short against port ขายหุ้นทั้งที่ขาดทุนหนักอย่างนั้นออกไปก่อน แล้วรอให้ตลาดหุ้นตกลงไปมากกว่านี้ค่อยไปรับกลับคืน แต่ช่วงเวลาแบบนี้การชอร์ตหุ้นทุกรูปแบบเสี่ยงมาก ถ้าโชคดีหุ้นลงต่อในวันที่ทำพอดีก็โชคดีไป แล้วบ่อยครั้ง หุ้นมักจะมี tech rebound เกิดขึ้นระหว่างทาง หรือบางทีก็มีข่าวรัฐออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ยพิเศษ ออกแพจเกจพยุงหุ้น รวมไปถึงการออกคำสั่งห้ามช็อตหุ้นเพื่อพยุงตลาด short ผิดวัน ทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก หรือแม้แต่การ short against port แล้วหุ้นเด้ง ไม่ยอม cover short กลายเป็นขาดทุนถาวร เป็นต้น

หรือต่อให้เป็นคนที่โชคดีมองถูกตั้งแต่แรกๆ ขายหุ้นออกมาถือเงินสดไว้ ก็จะมีความคิดว่า จะรอให้ตลาดหุ้นตกลงจนถึงจุดต่ำสุดก่อน แล้วจะค่อยกลับเข้าไปใหม่ แล้วก็จะรวย แต่การกะว่าจุดต่ำสุดของวิกฤตจะอยู่ที่ตรงไหนนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เวลาที่เราไม่มีหุ้น เราจะเป็นกองเชียร์ฝั่งที่อยากให้หุ้นลงต่อ ซึ่งหลายๆ หน เราก็อาจจะคิดถูก หุ้นลงต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ สักพัก เราจะเริ่มเชื่อว่าหุ้นจะลงต่อไปเรื่อยๆ ความเชื่อว่าหุ้นจะลงของเรามันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหุ้นลงไปต่ำมากๆ แล้ว เพราะคนที่ทำแบบนั้นได้ เวลาหุ้นเด้งระหว่างทางจะต้องยืนกระต่ายขาเดียวว่าหุ้นจะลงต่อ เป็นการสะสมความเชื่อว่าหุ้นจะลงมากขึ้นเรื่อยๆ  แล้วพอถึงเวลาที่หุ้นมันกลับตัวได้จริงๆ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้ทัน เพราะเราเคยเชื่อถูกมาแล้วตั้ง 4-5 ครั้งแล้ว จะให้มาเปลี่ยนความคิดว่าหุ้นจะขึ้น มันยาก แล้วเราก็จะมองดูมันกลับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ซื้ออะไรเลย สุดท้ายกว่าเราจะยอมรับความจริงว่าหุ้นมันขึ้นจริงๆ หุ้นก็อาจกลับตัวขึ้นไปมากแล้ว

ถ้าใครอยากได้คำแนะนำว่าหุ้นจะลงไปต่ำสุดแค่ไหน ผมช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะมองไม่ออกเลย ที่ผ่านมาก็มีอะไรหลายอย่างที่ผิดจากที่ผมคาดไว้ เช่น ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า ถ้าน้ำมันต่ำเท่ากับช่วงซับไพร์มเมื่อไรน่าจะใกล้ต่ำสุด แต่ตอนนี้มันก็ต่ำกว่าแล้ว (อย่างรวดเร็ว) แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มลงเท่านั้น ถ้าเทียบกับภูเขาลูกมหึมาที่ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ประสบการณ์ในอดีตเอามาช่วยไม่ได้เลยจริงๆ

แทนที่เราจะพยายามทายจุดต่ำสุดให้ถูก ผมมีคำแนะนำอีกแบบหนึ่ง ลองพยายามตั้งสติดีๆ อะไรที่มันเสียหายไปแล้วก็ช่างมันไปก่อน ลองคิดดูดีๆ ว่าหลังจากวิกฤตไวรัสผ่านพ้นไปหมดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แล้วค่อยมองย้อนกลับมาว่าเราควรจะทำยังไงดีกว่า

ประการแรก ไวรัสอาจจะอยู่กับเราได้อีกเป็นปี แต่คงไม่ใช่ตลอดไปแน่นอน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโดยตรง อาจจะลงต่อจากนี้อีกมากแค่ไหนก็ได้ในระยะสั้น แต่ว่าไม่ตลอดไปแน่นอน ตรงกันข้ามหุ้นเหล่านี้มีโอกาสลงมามากเกินไปแล้ว ลองคิดดูว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีไวรัสเหลืออยู่เลย เราจะให้ราคาหุ้นเหล่านี้อย่างต่ำเท่าไร โลกที่ไม่มีไวรัสแล้ว ทุกอย่างก็ไม่ได้ดูขี้เหร่ ต่อให้ไม่เลิศที่สุด แต่อย่างน้อยก็น่าจะไปได้เรื่อยๆ แน่ๆ ดอกเบี้ยก็คงยังต่ำเตี้ยติดดินต่อไป หรือตำ่ยิ่งกว่าเดิม เงินล้นโลก เงินไม่มีที่ไปเหมือนเดิม สุดท้ายแล้วเงินก็ยังต้องไหลกลับมาตลาดหุ้นอยู่ดี

ประการต่อมา เมื่อไวรัสจบแล้ว ผลกระทบที่ตกค้างต่อเศรษฐกิจจะมีอะไรได้บ้าง โดยส่วนตัว ผมมองว่าในกรณีร้ายสุด สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะซบเซา เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่ำลง หรือต่อให้เศรษฐกิจโลกไม่ซบเซา แต่ก่อนหน้านี้ไทยก็อยู่ในภาวะต้มกบมาก่อนไวรัสแล้ว จบไวรัสแล้วเราก็อาจจะต้องกลับมาต้มกบกันต่ออีกก็ได้ หุ้นที่น่าสนใจในภาวะแบบนั้นคือหุ้นที่ไม่เน้นการเติบโตสูง แต่เน้นความมั่นคงของรายได้ อาจโตช้าหน่อย แต่ไม่ค่อยขาดทุน และกำไรก็ลดยาก เราอาจต้องปรับพอร์ตของเราให้มีความ conservative มากขึ้น สะสมหุ้นแข็งแรง มากกว่าหุ้นเติบโต

ประการที่สาม หลังวิกฤต อะไรเน่าๆ ที่ซ่อนไว้ในตลาดการเงิน มักโผล่ออกมา ดั้งนั้นผมมีความเป็นห่วงหุ้นที่มีหนี้มากๆ หรือเกี่ยวข้องกับหนี้ เช่น หุ้นที่ต้องแบกหนี้เสีย บริษัทที่หนี้เยอะ การเงินไม่แข็งแรง กระแสเงินสดไม่ดี เงินจม ลูกค้าต้องกู้เงินเท่านั้นถึงจะซื้อของเราได้ เป็นต้น เราอาจต้องตัดหุ้นพวกนี้ออกไปจากเรดาห์ของเรา แม้ว่าหุ้นเหล่านี้จะมีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อในเวลานี้ก็ตาม อย่าเห็นแก่ของถูก เน้นคุณภาพไว้ก่อน ราคาเป็นเรื่องรอง

ประการสุดท้าย อันนี้แค่ optional อาจไม่เกี่ยวกับวิกฤตไวรัสเท่าไร ถ้าเป็นไปได้ หุ้นที่เราน่าจะพึ่งพาได้ในอนาคต ควรจะเป็นหุ้นที่ทนทานของ Digital Disruption ด้วย ก็จะยิ่งดี เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้อยู่พอดี ไม่ว่าจะมีไวรัสเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม พยายามลืมภาพเก่าๆ ไปบ้าง อย่าคิดว่าหุ้นที่เคยแข็งแรงในอดีตจะต้องแข็งแรงต่อไปในอนาคต ลองคิดถึงโลกที่ทุกคนทำทุกอย่างด้วยสมาร์ทโฟน ธุรกิจอะไรบ้างที่จะไม่ได้รับผลกระทบ

ลองคิดภาพลางๆ ดูว่า การลงทุนของตัวเราหลังจากวิกฤตไวรัสจะเป็นประมาณไหน พอร์ตในฝันของเราควรมีหุ้นอะไรอยู่บ้าง ใครที่ยังพอมีเงินสดเหลืออยู่ ลองดูว่าหุ้นที่เราอยากได้เหล่านั้น มีราคาถูกกว่าราคาที่แพงที่สุดที่เรารับได้ของหุ้นตัวนั้นเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว ก็ซื้อไปเถิด ซื้อแล้วก็เลิกสนใจไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน แล้วอีกสามปีข้างหน้าค่อยมาดูใหม่ก็ได้ หรือถ้าใครไม่มีเงินสดเหลืออยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือการปรับเปลี่ยนตัวหุ้นในพอร์ตไปสู่หุ้นที่อยากฝากฝีฝากไข้ช่วงหลังวิกฤตให้มากขึ้น ถึงเราจะผิดพลาดกับการลงทุนรอบนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ควรจะได้รับประสบการณ์ที่มากขึ้น ลองทบทวนสิ่งที่เราเชื่อในอดีตว่ามีอะไรที่ผิดพลาดบ้าง นี่คือเวลาที่คนเราจะตาสว่าง ถ้าพ้นวิกฤตไปแล้ว ก็ยังเชื่อแบบเดิม ทำแบบเดิมอยู่ เราก็คือคนที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากวิกฤต หลังจากนี้ไปเราต้องเป็นนักลงทุนที่เก่งกว่าเดิมให้ได้ นั่นอาจเป็นกำไรที่มีค่าที่สุดที่เราได้รับจากวิกฤตรอบนี้ เส้นทางสายหุ้นไม่ได้ประสบความสำเร็จกันง่ายๆ ถ้าลองไปค้นประวัติของพวกเซียนหุ้นดู จะพบว่าล้วนต้องเคยเจ๊งหุ้นก่อนค่อยสำเร็จกันทั้งนั้น บางทีที่คุณล้มเหลวในรอบนี้อาจเป็นเพราะคุณกำลังอยู่บนเส้นทางสู่ความสำเร็จแบบเดียวกันอยู่ก็ได้

มีหุ้นในพอร์ตระยะยาวกี่ตัวดี

ถือหุ้นน้อยตัวเกินไปก็เสี่ยง ถือหุ้นมากตัวเกินไปก็ตามข้อมูลได้ไม่ลึก รวมทั้งยังเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่คุ้มค่าและเวลาที่ใช้ศึกษาข้อมูลรายตัว สุดท้ายแล้วก็ต้องตรงกลางว่าจะมีหุ้นกี่ตัวถึงจะเหมาะ

เวลาจะซื้อหุ้นสักตัว ต้องทำใจว่าเราอาจจะขาดทุนได้มากถึง 50% เพราะหุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่เสี่ยงมาก ดังนั้นถ้าเรามีหุ้นห้าตัวในพอร์ต (ตัวละ 20%ของพอร์ต) แล้วเราเจ๊งกับหุ้นตัวหนึ่งไป 50% เท่ากับว่าพอร์ตของเราจะขาดทุนจากหุ้นตัวเดียวไป 10%

แต่ถ้าพอร์ตเรามีหุ้นสิบตัว (ตัวละ 10% ของพอร์ต) แล้วเราเจ๊งกับหุ้นหนึ่งตัวไป 50% เท่ากับว่าพอร์ตเราจะลดลงจากหุ้นตัวนั้นเท่ากับ 5%

ทุกคนก็ต้องชั่งใจเอาเองว่า เราสามารถเสียหายไปกับหุ้นหนึ่งตัวได้มากที่สุดแค่ไหน ถ้าคิดว่าไม่เกิน 5% ของพอร์ต ก็ควรมีหุ้น 10 ตัว แต่ถ้า 10% ก็ควรมีหุ้น 5 ตัว ต้องถามใจตัวเองดู

สำหรับพอร์ตระยะยาวซื้อสะสม ยังมีอีกประเด็นที่ต้องคิด คือ หุ้นที่ถือยาวได้มักมีอยู่น้อยในตลาดหุ้น ข้อจำกัดตรงนี้มักทำให้พอร์ตระยะยาวไม่ควรมีหุ้นหลายตัวเกินไปโดยปริยาย ถ้าคุณคิดว่าจะซื้อแต่หุ้นพื้นฐานดีมาก แต่คุณถือไว้ตั้ง 20 ตัว ก็น่าสงสัยว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นของคุณอ่อนไปรึเปล่า ยิ่งถือยาวเท่าไร การโฟกัสก็ควรจะมีมากเท่านั้น

โดยส่วนตัวมองว่ามีหุ้น 5-10 ตัว ในพอร์ตน่าจะกำลังดี นั่นก็หมายความว่า ทุกครั้งที่เจอหุ้นที่อยากลงทุน ก็ควรซื้อด้วยเงินประมาณ 10-20% ของเงินทั้งหมดที่จะใช้ลงทุนในหุ้น

ปัญหาที่มักจะตามมาก็คือว่า ถือหุ้นไปนานๆ หุ้นบ้างตัวขึ้น บางตัวลง บางตัวอาจจะกลายเป็น 25% ของพอร์ต เป็นต้น แบบนี้เราต้องปรับพอร์ตใหม่ให้เหลือไม่เกินตัวละ 20% รึเปล่า เรื่องนี้ไม่ได้มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ต้องปรับ ให้มองความเสี่ยงจากเงินต้นเริ่มแรกของเราเป็นหลัก ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่า ถ้าเราต้องคอยปรับอยู่เรื่อยๆ ผมมองว่า จะทำให้การบริหารพอร์ตระยะยาวของเราซับซ้อนเกินไป การพยายามทำให้การลงทุนเรียบง่ายเข้าไว้เป็นเรื่องที่ดีกว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่โพสต์นี้เป็นต้นไป จะยกเลิก rss feed และ email noti แจ้งเตือนบทความใหม่ๆ นะครับ ไม่อยากรบกวนอินบ็อกซ์ของทุกคน เพราะบางคนอาจสมัครไว้นานแล้ว ตอนนี้อาจจะไม่อยากรับแจ้งเตือนแล้วก็ได้